โรค & การดูแล

ภาวะสับสน ของผู้สูงวัย | Health at Home

โดย พญ. วชิราภรณ์ คูณรังษีสมบูรณ์ · 22 กุมภาพันธ์ 2561

ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ

“คุณหมอครับ อาม่าของผมเพิ่งออกจากโรงพยาบาล จู่ ๆ ก็สับสน พูดเพ้อไปเรื่อย มองเห็นภาพหลอนที่คนอื่นไม่เห็น ไม่หลับไม่นอน เอะอะโวยวาย จำลูกหลานไม่ได้ ตอนเช้าผมจะพามาหาคุณหมอ ก็หายดีกลับเป็นคนเดิม อาม่าของผมเป็นโรคอะไรครับ”

อาการผิดปกตินี้เรียกว่า ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ (Delirium) เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว ระดับความรู้คิดและความสามารถของสมองโดยรวมอย่างเฉียบพลัน ผู้สูงอายุมักไม่ให้ความสนใจกับการตอบคำถาม ถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย อาจจะวุ่นวายหรือซึมหลับมากก็ได้ อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ มักเป็นช่วงพลบค่ำหรือกลางคืน ภาวะนี้เป็นภาวะเร่งด่วน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อสืบค้นสาเหตุและรักษาทันที เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้สูญเสียหน้าที่การทำงานของสมองถาวร นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม และเพิ่มอัตราการตาย

พยาธิสรีรวิทยา

ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงพยาธิสรีรวิทยาที่ทำให้เกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน แต่เชื่อว่าเกิดจากกลไก 4 ประการดังนี้

  1. ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท ได้แก่ acetylcholine และ dopamine โดยพบว่า cholinergic activity ที่ลดลงน่าจะเป็นสาเหตุที่สำคัญ เนื่องจากมีหลักฐานว่ายากลุ่ม anticholinergics เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะสับสนเฉียบพลัน
  2. กระบวนการอักเสบ ภาวะสับสนเฉียบพลันมักสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยทางกาย สึ่งมีการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น tumor necrosis factor-alpha, interleukin-1 รวมถึง cytokine และ chemokine อื่นๆ ทำให้เลือดไหลสู่สมองลดลง จากการที่มีเซลล์เม็ดเลือดและไฟบรินไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็ก ร่วมกับมีการกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด
  3. ปฏิกิริยาออกซิเดชันในสมองลดลง ทำให้เมแทบอลิซึมในสมองลดลง
  4. การเปลี่ยนแปลงระดับกรดอะมิโน ได้แก่ ทริปโตแฟน และ ฟีนิลอะลานีน พบว่ากรดอะมิโนทั้ง 2 ชนิดมีมากกว่าปกติ ทำให้ระดับสารสื่อประสาท dopamine และ norepinephrine ในสมองสูงผิดปกตินำไปสู่การเกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน

ภาวะสับสนเฉียบพลันเกิดจากอะไร

  • ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาโรคจิตเภท ยิ่งได้รับยาหลายชนิดยิ่งมีความเสี่ยงสูง
  • หยุดสุราหรือหยุดยาบางชนิดกะทันหัน (กรณีติดสุราหรือติดยานั้น ๆ แล้ว)
  • มีการติดเชื้อ หรือการเจ็บป่วยเฉียบพลันอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง ภาวะขาดออกซิเจน ภาวะช็อก ภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป ภาวะซีด หรือภาวะขาดน้ำ
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ความเจ็บปวด ท้องผูก การใส่สายสวนปัสสาวะ การใช้อุปกรณ์เหนี่ยวรั้งผู้ป่วย การเปลี่ยนสถานที่ หรือ เปลี่ยนผู้ดูแล การอดนอนนาน ๆ เป็นต้น

ใครบ้างที่มีโอกาสเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันได้บ่อย

  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะสมองเสื่อม หรือโรคสมองอื่น ๆ
  • เคยมีอาการสับสนเฉียบพลันมาก่อน
  • มีอารมณ์ซึมเศร้า
  • มีการมองเห็น หรือการได้ยิน ผิดปกติ
  • สูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง
  • ติดสุรา
  • มีโรคประจำตัวรุนแรง หรือเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย

ควรดูแลผู้สูงอายุอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน

  • รักษาโรคประจำตัวให้ดีที่สุด
  • ไม่ควรซื้อยาให้ผู้สูงอายุทานเอง โดยเฉพาะ ยาหวัด ยานอนหลับ ยาแก้ปวด
  • ดูแลการทานอาหาร การดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ดูแลการขับถ่าย ระวังไม่ให้เกิดการท้องผูก
  • ควรจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม โดยผู้สูงอายุรู้สึกคุ้นเคย รวมถึงไม่ควรเปลี่ยนผู้ดูแลบ่อย
  • คอยกระตุ้นเตือนวันและเวลา และควรจัดตารางกิจวัตรประจำวันให้ผู้สูงอายุทำเป็นปกติ ไม่ควรเปลี่ยนแปลงกิจกรรมบ่อย เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุสับสน
  • ส่งเสริมให้ใช้แว่นสายตาหรือเครื่องช่วยฟัง ในผู้ที่มีปัญหาทางสายตาหรือการได้ยิน
  • ควรได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ในช่วงกลางวัน มีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการนอนกลางวันนาน ๆ จัดห้องนอนให้มืด เงียบ อุณหภูมิเหมาะสม เพื่อช่วยให้นอนหลับดี
  • หลีกเลี่ยงการผูกมัดผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
  • หากผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติ เช่น สับสน ซึมหลับ เอะอะโวยวาย มีไข้ ควรรีบพามาพบแพทย์
แชร์บทความนี้:

พญ. วชิราภรณ์ คูณรังษีสมบูรณ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

คุณหมอแพร หลังจากที่เรียนจบอายุรแพทย์ ก็สนใจงานด้านผู้สูงอายุ จึงได้ศึกษาต่อด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ที่ศิริราช ปัจจุบันคุณหมอแพร อยู่ที่ Longevity Center รพ.กรุงเทพ