โรค & การดูแล

เคล็ด “รัก” การดูแล | Health at Home

โดย นันทนัช พวงชัยพฤกษ์ · 19 มีนาคม 2563

“ มีอยู่วันหนึ่ง ที่แม่พายเส้นเลือดในสมองแตกแล้วต้องเข้าโรงพยาบาล ต้องเข้าห้อง ICU วันนั้นอะ พายต้องกลับมาบ้านคนเดียว ตอนที่พายเปิดประตูบ้านมา พายรู้สึกว่าบ้านนี้ที่พายรู้สึกว่ามันเคยมีอะไรมาตลอด บ้านที่เป็นบ้านสำหรับพาย พายค้นพบในวันนั้น ว่ามันไม่มีความหมายอะไรเลย เมื่อมันไม่มีแม่ “

ถ้อยคำที่สะท้อนถึงการเรียนรู้และเข้าใจความหมายของคำว่า ”บ้าน” อย่างแท้จริง ในช่วงวัย 16 ปีของ คุณพาย - ภาริอร วัชศิริ นักเขียนผู้สั่งสมและถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นพยาบาลจำเป็นของคุณแม่ที่ป่วยกะทันหันและเป็นผู้ป่วยติดเตียงมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี คุณพายเคยเล่าประสบการณ์และฝากมุมมองที่น่าประทับใจผ่านบทสัมภาษณ์ต่าง ๆ รวมถึงเวที TEDXBANGKOK และยังเป็นเจ้าของหนังสือยอดนิยมอย่าง ‘How I Love My Mother’ ‘How I Live My Life’ และ ‘How Lucky I am’ ที่บอกเล่าเรื่องราวและความผูกพันระหว่างเธอกับคุณแม่ได้อย่างอบอุ่น

วันนี้เป็นโอกาสที่ดีของ เฮลท์ แอท โฮม สำหรับการได้พูดคุยกับคุณพายอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองในบ้านของเธอ ในแง่มุมที่อาจไม่เคยถูกเปิดเผยที่ใดมาก่อน จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมติดตามแง่มุมดี ๆ ผ่านบทสัมภาษณ์นี้ไปพร้อม ๆ กับเราค่ะ

ผู้สัมภาษณ์

ผู้สัมภาษณ์ : แนะนำตัวหน่อยค่ะ

คุณพาย : ชื่อ พาย ภาริอร วัชรศิริ ค่ะ อายุ 28 ปัจจุบันเป็นนักเขียนและบรรณาธิการเนื้อหาให้กับเว็บไซต์
sabuywedding.com ค่ะ

ผู้สัมภาษณ์ : ย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน ทำไมตอนนั้นถึงเลือกที่จะดูแลคุณแม่ด้วยตัวเองที่บ้าน ?

คุณพาย : เอ่อ คือตอนที่แม่พายป่วยตอนนั้นพายอายุ 16 ใช่ไหมคะ แล้วพายก็ เลือกที่จะดูแลแม่เองที่บ้าน เพราะว่า โดยธรรมชาติแล้ว ไม่มีใครอยากนอนโรงพยาบาลเป็นกิจวัตรเป็นชีวิตประจำวัน มากกว่าการได้อยู่ในบ้านของตัวเองหรอก แล้วพายรู้สึกว่าการทำแบบนั้นมันทำให้แม่เขามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น แล้วเขารู้สึกว่าเขาได้อยู่ในที่ ๆ เขาคุ้นเคย ที่เขาสบายใจ อะไรอย่างนี้อะค่ะ

แล้วก็ พายดูแม่ด้วยตัวเอง เพราะว่า พูดตรงๆเลย คือในยุคที่แม่พายป่วยเมื่อ 11 - 12 ปีที่แล้วอะมันยังไม่มีศูนย์ดูแลที่ มีคุณภาพ หรือว่าได้มาตรฐานมากพอคือตอนนั้นอะ เอาจริงๆเลย คือคนที่เขาส่งมาดูแลแม่เราอะแต่มันไม่ตรงกับความต้องการที่เราอยากได้

พายไม่ได้เชียร์ การที่ทุกคนต้องออกมาดูแลแม่ด้วยตัวเอง พายเชื่อว่า ทุกคนมีปัจจัย เงื่อนไขต่าง ๆ กัน ยอมรับว่าถ้าสมัยก่อน พายมีศูนย์ที่มีคุณภาพและพายมีเงินก้อนโตก้อนหนึ่งที่ไม่ได้บังเอิญหมดไปกับการรักษาแม่ พายดันมีเงิน มีคนที่พร้อมจะซัพพอร์ตทางด้านนี้ พายอาจจะเลือกใช้ศูนย์ที่มีคุณภาพก็ได้

แต่ก็ต้องมีปัจจัยที่ต้องมองหลาย ๆ มุมเหมือนกัน เช่น หนึ่งเลยคือต้องเป็นคนที่ มีทักษะทางการพยาบาล คืออย่างน้อยรู้ว่า โอเค ทุพพลภาพด้านนี้ ต้องยกแบบนี้ ยกเสร็จมีการวางแผน จะยกไปไว้ที่ไหน จะต้องดูแลอย่างไรต่อ สอง คือต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ คือต้องแก้ไขและปลอดภัย แล้วก็ต้องเป็นคนที่ พูดตรง ๆ คือต้องมี Mercy อะ หมายความว่า เขาต้องเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ ไม่ลงไม้ลงมือ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องเป็นคนซื่อสัตย์ เพราะว่าบางที ถ้าสมมุตติอย่างพายเป็นลูกคนเดียว แล้วเราปลอยแม่ไว้กับเขา ก็เหมือนเราปล่อยทั้งแม่และบ้านไว้กับเขาด้วยเขาก็ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ หรือมีการการันตี สมมุตติมีระบบ มีศูนย์ที่การันตีเขาได้ว่าเกิดอะไร เราจะได้รับการรับผิดชอบ ได้รับการชดเชย อย่างนี้ ก็อาจจะโอเค

รูปคุณแม่คุณพาย

ผู้สัมภาษณ์ : การที่มีคุณแม่อยู่ด้วยกันที่บ้าน มันดีทั้งกับตัวเราเองและคุณแม่อย่างไร​ ?

คุณพาย : คือการมีแม่อยู่ที่บ้าน มันทำให้บ้านเป็นบ้านนั่นแหละ มันทำให้ทุกครั้งที่กลับมาบ้าน มันรู้สึกเหมือนกับว่ามันคือแหล่งพลังงานชั้นดี ที่แบบ กลับมาแล้วมัน มันเติมเต็มบางอย่าง คือจริง ๆ แล้วอย่าว่าแต่การที่เราดูแลแม่ที่เป็นคนป่วยที่บ้านเลย คนปกติที่พ่อแม่ไม่ป่วยแล้วอยู่ที่บ้านอะ วันๆหนึ่งเราออกไปเผชิญโลกข้างนอกมากมาย ความเร่งเร้า อุปสรรค การงาน ความเครียดต่าง ๆ กลับมา เชื่อปะว่าแค่กินข้าวแล้วนั่งคุยกันดี ๆ แบบมีความสุขอะ มันเป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย แล้วก็มีคุณค่ามาก จริง ๆ มันอาจจะดีสำหรับ คนป่วยด้วยเหมือนกันนะกับการที่เขาได้อยู่ที่บ้าน แล้วก็ได้อยู่ในที่ ๆ เขามีความสุข แล้วก็คุ้นเคย มันก็ดีกับทุกฝ่าย

ผู้สัมภาษณ์ : เหนื่อยไหม ?

คุณพาย : จริงๆช่วงแรก ๆ ที่แม่ป่วยเนี่ย พายรู้สึกว่าพายเครียดเยอะมากนะคะ 3 ปีแรกเป็นช่วงที่รู้สึกอยากตายบ่อย ๆ

คือมันแบบมันหนักเกินเด็กอายุ 16 รับ แต่ว่า พอปรับตัวไปถึงจุดหนึ่งมันก็กลายเป็นอีกไลฟ์สไตล์หนึ่ง ที่เราค่อย ๆ คุ้นชินไปเรื่อย ๆ พายคิดว่าสุดท้ายแล้วถ้าเกิดเราค่อย ๆ ปรับมัน มันก็จะกลายเป็นอีกความเคยชินหนึ่ง ในรูปแบบหนึ่ง แค่จะมีเรื่องตื่นเต้น เป็นระยะ ๆ โผล่มามากกว่า สำหรับการดูแลคนป่วย

คุณพาย

ผู้สัมภาษณ์ : นอกเหนือพาร์ทของการเป็นพยาบาลจำเป็นที่คอยดูแลคุณแม่แล้ว เชื่อว่าคุณพายยังมีพาร์ทอื่น ๆ ของชีวิตที่ต้องรับผิดชอบและดูแล ในช่วงเวลานั้นคุณพายจัดสมดุลชีวิตอย่างไร ?

คุณพาย : จริง ๆ แล้วการดูแลคนป่วยด้วยตัวเองแบบเต็มเวลาก็ยังคงจำเป็นมาก ที่จะต้องมีคนมาผลัดเวร ใช้คำว่าจำเป็นมากเลยนะ เพราะว่า อย่างที่บอกไปว่าเราเจ็บป่วยทางไลฟ์สไตล์ใช่ไหม แต่ว่าการที่มีคนมาผลัดเปลี่ยนเวรกับเรา มันทำให้เราได้ พูดตรง ๆ คือ ออกไปหายใจในโลกจริง ในอีกโมเมนต์หนึ่ง อีกครั้งหนึ่ง ได้ออกไปใช้ชีวิตที่จะไม่ลืมว่า คนปกติเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร ออกไปเติมพลังงาน ไปเจอเพื่อนบ้าง ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปสังสรรค์บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่โอกาสมันอำนวย สิ่งนี้แบบ สำคัญมาก ๆ เราเชื่อว่า เราไม่มีทางดูแม่มาได้ 11 ปี ถ้าเราดูคนเดียว แบบคนเดียว 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เพราะว่าเราดูคนเดียว 90 เปอร์เซ็นต์กว่า ๆ แล้วอีกจำนวนหนักหน่วยเปอร์เซ็นต์นั้นน่ะ เราผลัดเวรให้คนอื่นมาดูบ้าง เราจึงทำมาได้ยาวนานจนถึงทุกวันนี้ เชื่อว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก

มันไม่มีใครทำงานเดียวได้โดยที่ไม่เบื่อหรือแบบมีพลังใจเต็มร้อยตลอดเวลา All the time มันยากมาก มันต้องออกไปชาร์จแบตบ้างเป็นเรื่องปกติ แล้วก็เราคิดว่าจริง ๆ อาจจะดีกับคนป่วยด้วย ตรงที่ว่า พูดตรง ๆ คือเขาอยู่กับเราตลอดเวลา มันอาจจะมีบางเรื่องที่เขาไม่กล้าพูดหรืออาจจะอึดอัดใจที่จะบอกกับเราตรง ๆ การมีคนมาผลัดเวรบ้าง เขาอาจจะได้สื่อสารเรื่องนั้นออกไป

ผู้สัมภาษณ์ : เคล็ดลับของคุณพายที่อยากแชร์ให้กับผู้ที่อาจจะกำลังหมดแรงหรือผู้ที่กำลังดำเนินชีวิตเป็นพยาบาลจำเป็นเหมือนกับคุณพาย ณ เวลานั้น

คุณพาย : เมื่อไรก็ตามที่เราดูแลใครสักคนด้วยหน้าที่ เพราะว่าเขาเป็นพ่อแม่ฉัน เพราะว่าเขาเป็น สามีภรรยาของฉันเพราะว่าเขาเป็นลูกฉัน เพราะว่าเขาเป็นเพื่อนฉัน เราจะทำสิ่งนี้ไปได้นานแค่ไหน เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นเหมือนเราครอบ Mindset ของเราว่า เราทำเพราะว่าความสัมพันธ์ เพราะว่าหน้าที่ แต่จริง ๆ แล้วเราจะต้องคิดว่า เราจะทำสิ่งนี้อย่างไร ด้วยความเต็มใจ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำด้วยความเต็มใจ เหมือนที่พายบอกว่า พายไม่ได้ดูแม่เพราะว่าเขาเป็นแม่หรอก แต่พายดูเขา เพราะว่าพายรักเขาอะ ไอ้ความเต็มใจนั้นน่ะ มันจะทำให้พายดูไปได้ตลอด หมายความว่า ต่อให้เขาไม่ได้ตายในปีที่ 11เขาจะอยู่ไปถึง 20 ปี พายก็จะทำได้ เพราะว่า ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแม่พายหรือว่าเพราะว่าพายเป็นลูกเขา แต่ว่าเพราะว่าพายรักเขา พายก็จะทำอย่างนี้ ไปได้เรื่อย ๆ

ติดตามคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่

แชร์บทความนี้:

นันทนัช พวงชัยพฤกษ์
ทีมงาน เฮลท์ แอท โฮม

สาวดีกรีจิตวิทยา ผู้อยากทำเรื่องยากๆในการดูแลผู้สูงอายุให้เข้าใจง่าย ปัจจุบันอ๋อเป็น UX researcher ที่บริษัท Health at home