โรค & การดูแล

จะรู้ได้ไงว่าเป็นสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ | Health at Home

โดย พญ. ศรินพร มานิตย์ศิริกุล ทิพย์อุดม · 21 สิงหาคม 2560

ในขณะที่โลกกำลังหมุนไปทุกวันๆ ประเทศของเราก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ เลยค่ะ ทุกวันนี้เรามีประชากรที่มีปัญหาด้านความจำมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุจากความเสื่อมของสมอง (ตามอายุที่เพิ่มขึ้น) หรือบางครั้งก็จากโรคที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษา

เราจะรู้ได้ยังไง ว่าตัวเราเองหรือคนรอบข้างกำลังมีปัญหาสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์รึเปล่า และสาเหตุเหล่านั้นมาจากอะไร ลองมาพิจารณาเคสตัวอย่างเหล่านี้กัน

  1. นาย ก. อายุ 60 ปี ช่วงนี้ทำงานหนัก อดนอน นอนไม่ค่อยหลับ เวลาเข้าประชุมแล้วรู้สึกว่าตัวเองจำรายละเอียดการประชุมไม่ได้
  2. นาง ข. อายุ 45 ปี มีปัญหาภายในครอบครัว กำลังจะหย่ากับสามี ต้องทานยานอนหลับทุกคืน หลายเดือนมานี้รู้สึกว่าหาของ เช่น กุญแจ นาฬิกาไม่ค่อยเจอ
  3. นาย ค. อายุ 70 ปี เป็นเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ค่อยดี มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และเคยป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบถึงสองครั้ง รู้สึกว่าความจำตัวเองแย่ลง จำรายการของที่จะไปซื้อไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยอยากออกนอกบ้าน
  4. นาง ง. อายุ 75 ปี ช่วง 2-3 ปีมานี้ รู้สึกว่าความจำแย่ลงเรื่อยๆ จำตารางนัดหมายไม่ได้ และช่วง 6 เดือนล่าสุดนี้ เริ่มจำชื่อคนที่มาเยี่ยมเยียนไม่ได้

ใครใน 4 คนนี้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม หรือใครบ้างที่เป็นอัลไซเมอร์?

จากการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มาหาหมอด้วยปัญหาด้านความจำ เราต้องแน่ใจก่อนครับว่าบุคคลเหล่านี้มีปัญหาด้านความจำจริง ซึ่งอาจพบปัญหาต่างๆ ดังนี้ค่ะ

  • มีปัญหาด้านความจำระยะสั้น เช่น ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมตารางนัดหมาย ลืมคนที่เพิ่งเจอได้ไม่นาน
  • นึกคำ นึกชื่อสิ่งของ หรือชื่อคนที่คุ้นเคยไม่ออก
  • มีปัญหาหลงทาง จำทางที่คุ้นเคยไม่ได้ เช่น ไปห้างเข้าห้องน้ำแล้วหาทางออกกลับมายังจุดเดิมไม่ได้
  • ไม่สามารถใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เคยใช้ได้เหมือนก่อน เช่น ลืมวิธีใช้ไมโครเวฟ อยู่ๆ ก็เปิดโทรทัศน์เองไม่ได้ เข้าห้องน้ำแล้วเปิดกลอนประตูออกมาไม่เป็น
  • มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • มีปัญหาในการทำงานที่ซับซ้อน หรือการคิดงานที่ต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

โดยความผิดปกติเหล่านี้ต้องนำไปเปรียบเทียบกับความสามารถเดิมของผู้ป่วยด้วย เช่น แต่ก่อนจำชื่อคนเก่งมาก แต่ตอนนี้จำไม่ได้เลย แบบนี้ถือว่าผิดปกติค่ะ แต่ถ้าแต่เดิมก็ไม่เคยจำชื่อใครได้ ตอนนี้ก็จำไม่ได้ อย่างนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผิดปกติ

ดังนั้นจากเคสที่ยกมาข้างบนนี้….

ซึ่งบางครั้งเราอาจต้องรู้ถึงสาเหตุของปัญหา ก่อนที่จะมาประเมินระดับความจำก่อนกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจมีภาวะทางด้านจิตใจ มีความเครียด มีปัญหาซึมเศร้า หรือมีอาการทางจิตเวช บางครั้งอาจใช้ยาที่ส่งผลต่อความจำ ยานอนหลับ ยาลดน้ำมูกบางประเภท ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ หากได้รับการแก้ไข ความจำของผู้ป่วยก็อาจดีขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์

แต่หากผู้ป่วยไม่ได้มีสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น หมอจะทำการตรวจร่างกาย หรือเอ็กซ์เรย์สมองเพิ่มเติมอีก บางครั้งเราจึงพบว่าสาเหตุอาจมาจากภาวะไทรอยด์ต่ำ, การขาดวิตามินบี12 , ภาวะน้ำในโพรงสมองเยอะผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งสาเหตุต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ หากได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที ก็อาจทำให้ความจำดีขึ้นได้เหมือนกัน

สุดท้ายถ้าผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำจริง ไม่มีสาเหตุอื่นๆ ที่มีผลต่อความทรงจำเลยจากที่ได้ว่ามาทั้งหมด หมอจะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีปัญหาด้านความจำที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง (ซึ่งที่จริงก็ยังบ่งได้เป็นอีกหลายโรคนะครับ) และอัลไซเมอร์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยๆ ดังนั้นไม่แปลกเลย ที่เราจะคุ้นหูกับคำนี้เป็นพิเศษ

ถ้าจะให้ขยายความเรื่องอัลไซเมอร์เพิ่มเติมอีก อยากอธิบายเรื่องปัญหาด้านความจำด้านต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยปัญหาความจำระยะสั้นมักจะพบในระยะแรกๆ ของโรค อาการของโรคนี้จะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปช้าๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี ในรายที่อายุน้อยกว่านี้อาจเกิดได้จากทางพันธุกรรม ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของโรค อย่างเช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น, เพศ (เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย) การได้รับอุบัติเหตุทางสมอง, โรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง

ส่วนวิธีที่จะลดความเสี่ยงได้ ก็อย่างเช่น การออกกำลังกาย หมั่นฝึกฝนสมองอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งนี่ก็เป็นวิธีเดียวกับการรักษาแบบไม่ใช้ยาด้วยเหมือนกันครับ หมอจะแนะให้อ่านหนังสือ วาดรูประบายสี เล่นดนตรี (และบางครั้งก็ร่วมกับกายภาพบำบัด เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ป้องกันการล้มจากภาวะการควบคุมร่างกายไม่ได้ เพราะหลงลืมวิธีที่จะทำสิ่งต่างๆ) หากบางรายมีภาวะซึมเศร้าหรือหงุดหงิด อาจใช้เรื่องประสาทสัมผัสอื่นๆ เข้ามาช่วย เช่น การฟังเพลง การดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหย หรือใช้การเยียวยาทางจิตใจ เปิดอัลบั้มภาพครอบครัวให้ดูก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ

สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้ดูแลผู้ป่วย พาผู้ป่วยไปพบหมอตามนัด หากมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะได้รับวิธีการรักษามาปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมครับ ส่วนวิธีการสื่อสารระหว่างกัน ก็อยากให้ใช้ประโยคสั้นๆ ไม่ซับซ้อน ใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล และใจเย็นในการคุยกับผู้ป่วยด้วย อย่าลืมว่าอาการฉุนเฉียวของผู้ป่วยนั้นเป็นเพียงอาการของโรค ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของผู้ป่วย นึกถึงช่วงเวลาดีๆ ในอดีต พักผ่อนให้เพียงพอ ผลัดเปลี่ยนการดูแลผู้ป่วยบ้าง เพื่อป้องกันภาวะเครียด เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี ด้วยพลังใจที่เข้มแข็งแน่นอนค่ะ

แชร์บทความนี้:

พญ. ศรินพร มานิตย์ศิริกุล ทิพย์อุดม
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาท

คุณหมอจู เป็นหมอสมองที่เห็นว่าปัญหาเรื่องสมองเสื่อมเป็นเรื่องท้าทาย สำหรับสังคาไทย ได้ไปศึกษาต่อเรื่อง สมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ที่ประเทศที่ Mcgill University แคนาดา ก่อนกลับมาทำงานที่เมืองไทย