โรค & การดูแล

การวัดสัญญาณชีพ ทักษะพื้นฐานที่คุณควรรู้ | Health at Home

โดย Health at home · 9 พฤศจิกายน 2561

สัญญาณชีพ (Vital signs) หมายถึง ค่าความดันโลหิต (Blood pressure) อุณหภูมิ (Temperature) ชีพจร (Pulse) และการหายใจ (Respiration) ใช้ตัวย่อคำว่า T,P,R และ BP สัญญาณชีพเป็นสิ่งบ่งชี้การทำงานของร่างกาย ถ้าเปลี่ยนแปลงไปแสดงถึงภาวะสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลง

สัญญาณชีพมีช่วงของค่าปกติที่กำหนดไว้ แต่ในการประเมินชีพจรและความดันเลือดซึ่งเป็นสัญญาณชีพที่เปลี่ยนแปลงเร็ว โดยที่แต่ละคนมีค่าที่เป็นปกติแตกต่างกัน จึงต้องเปรียบเทียบกับค่าปกติของแต่ละคนด้วย สัญญาณชีพประกอบด้วย

1. ความดันโลหิต (Blood pressure) คือ แรงหรือความดันของเลือดที่ส่งออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายเข้าสู่ระบบหลอดเลือดแดง ประกอบด้วย 2 ค่า คือ

  1. Systolic blood pressure (SBP) เป็นความดันของเลือดสูงสุดขณะหัวใจห้องล่างบีบตัว
  2. Diastolic blood pressure (DBP) เป็นความดันเลือดที่ต่ำสุดขณะหัวใจห้องล่างคลายตัว

ค่าความดันโลหิตในผู้สูงอายุขึ้นอยู่แต่ละบุคคล และเปลี่ยนแปลงได้จากกิจกรรม อิริยาบถในขณะนั้นสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. ค่าความดันโลหิตปกติของผู้สูงอายุ โดยทั่วไป ถือว่าค่าความดันตัวบนไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท
  2. ความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ ต่ำกว่า 130/85 มม.ปรอท
    ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139 / 85-89 มม.ปรอท
    ความดันโลหิตสูงเมื่อ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท
  3. ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง หลังจากให้ผู้ป่วยพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริง และเทคนิคการวัดความดันโลหิตต้องกระทำให้ถูกต้องครบถ้วน
  4. ความดันโลหิตเป็นค่าไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทุกวินาที การวัดซ้ำในเวลาที่ใกล้เคียงกันอาจได้คนละค่า แต่ก็จะไม่ควรจะแตกต่างกันนัก
  5. ความดันโลหิตขึ้นกับท่าของผู้ถูกวัดด้วย ท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน
  6. นอกจากนั้นยังขึ้นกับสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น อาหาร บุหรี่ อากาศ กิจกรรมที่กระทำอยู่ในขณะนั้นรวมทั้งสภาพจิตใจด้วย

วิธีการวัดความดันโลหิต (เครื่องวัดแบบอัตโนมัติ)

  1. ประเมินสภาพผู้ป่วยและแจ้งให้ทราบว่าจะวัดอุณหภูมิร่างกายให้บอกวัตถุประสงค์และแจ้งรายละเอียดการวัด
  2. เตรียมความพร้อมจัดท่าให้ผู้ป่วยสุขสบาย หากมีกิจกรรมก่อนการวัดให้พักอย่างน้อย 15 – 30 นาที
  3. นำเครื่องวัดความดันวางในแนวระดับเดียวกับหัวใจ
  4. นำผ้าพันแขน (cuff) พันที่ต้นแขนเหนือข้อพับแขนประมาณ 2 นิ้ว โดยพันไม่แน่นจนเกินไป
  5. วางแขนให้นิ่งและกดปุ่มเปิดเครื่อง (start) รอเครื่องอ่านผล
  6. สามารถอ่านค่าความดันโลหิตตามที่หน้าจอแสดงผลตามภาพ

2. อุณหภูมิ (Temperature) ใช้เทอร์โมมิเตอร์สำหรับอุณหภูมิร่างกาย ในผู้ใหญ่นิยมวัดทางปากซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและแม่นยำดีพอ ถ้าวัดทางปากไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ผู้สูงอายุที่มีอาการเกร็งสั่น แนะนำให้วัดทางรักแร้

วิธีการวัดอุณหภูมิร่างกาย (เทอร์โมมิเตอร์แบบธรรมดา)

  1. ประเมินสภาพผู้ป่วยและแจ้งให้ทราบว่าจะวัดอุณหภูมิร่างกายให้บอกวัตถุประสงค์และแจ้งรายละเอียดการวัด
  2. เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และจัดท่าให้ผู้ป่วยสุขสบาย
  3. ก่อนวัดให้สลัดปรอทให้ลงไปอยู่ในกระเปาะ
  4. กรณีวัดทางปากนำเทอร์โมมิเตอร์วางไว้ใต้ลิ้นผู้ป่วยแล้วให้ผู้ป่วยอมไว้นานอย่างน้อย 2 นาที ค่าที่ได้จากปรอทเป็นค่าอุณหภูมิร่างกาย
  5. กรณีวัดทางรักแร้สอดไว้บริเวณกึ่งกลางรักแร้ ถ้ารักแร้เปียกเหงื่อให้เช็ดให้แห้ง และหนีบไว้นานอย่างน้อย 3-5 นาที ค่าที่ได้ทางรักแร้จะต้องบวกเพิ่ม 0.5°C ถึงจะได้เป็นค่าอุณหภูมิร่างกาย

วิธีการวัดอุณหภูมิร่างกาย (เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอล)

  1. ประเมินสภาพผู้ป่วยและแจ้งให้ทราบว่าจะวัดอุณหภูมิร่างกายให้บอกวัตถุประสงค์และแจ้งรายละเอียดการวัด
  2. เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และจัดท่าให้ผู้ป่วยสุขสบาย
  3. กดปุ่มเปิดและสอดเทอร์โมมิเตอร์บริเวณกึ่งกลางรักแร้
  4. รอให้เครื่องอ่านอุณหภูมิร่างกาย จะมีเสียงเตือนเมื่อเทอร์มิเตอร์อ่านค่าได้แล้ว
  5. นำเทอร์โมมิเตอร์ขึ้นมาอ่านค่าตามเครื่องที่แสดงจะเป็นค่าของอุณหภูมิร่างกาย

3. ชีพจร (Pulse) ชีพจรเป็นแรงสะเทือนของกระแสเลือด ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจห้องล่างด้านซ้าย ทำให้ผนังของหลอดเลือดแดงขยายออกเป็นจังหวะ เป็นผลให้สามารถจับชีพจรได้ตลอดเวลา ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุอัตราการเต้นของชีพจร 60-100 (เฉลี่ย 80 ครั้ง/นาที)

วิธีการวัดชีพจร

  1. ประเมินสภาพผู้ป่วยและแจ้งให้ทราบว่าจะวัดชีพจรให้บอกวัตถุประสงค์และรายละเอียดการวัด
  2. เตรียมความพร้อมจัดท่าให้ผู้ป่วยสุขสบาย หากมีกิจกรรมก่อนการวัดให้พักอย่างน้อย 15 – 30 นาที
  3. ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลางคลำที่หลอดเลือด โดยปกติจุดที่ใช้คลำชีพจรอยู่ที่บริเวณข้อมือด้านหน้าที่ร่องด้านนิ้วหัวแม่มือ หรือคลำชีพจรอยู่ที่บริเวณข้อศอกด้านนิ้วก้อย เป็นจุดที่สะดวกเพราะเป็นที่ที่จับได้ง่ายและไม่รบกวนผู้ป่วย
  4. การนับชีพจรให้นับจังหวะการเต้นของหลอดเลือดที่กระทบนิ้วในเวลา 1 นาที จะได้ค่าของชีพจร

4. การหายใจ (Respiration) เป็นการแสดงการสูดออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านจมูก หลอดลม และปอด ที่เรียกว่า การหายใจเข้า และเป็นการแสดงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายโดยผ่านปอด หลอดลม และจมูก ที่เรียกว่า การหายใจออก การตรวจนับการหายใจเป็นการสังเกตว่ามีการหายใจที่ผิดปกติหรือไม่ ในจังหวะและจำนวนครั้งต่อนาที

วิธีการวัดการหายใจ

  1. เตรียมความพร้อมให้ผู้สูงอายุนอนหงายหรือนอนตะแคงหรือนั่งในท่าที่สบาย หากมีกิจกรรมก่อนการวัดให้พักอย่างน้อย 15 – 30 นาที
  2. สังเกตการณ์หายใจเข้าโดยดูหน้าอกที่พองขึ้น และการหายใจออกโดยดูหน้าอกที่ยุบลง นับเป็นการหายใจ 1 ครั้ง
  3. นับจำนวนครั้งการหายใจใน 1 นาที จะได้ค่าของการหายใจ

ข้อควรระวัง ผู้ดูแลต้องสังเกตโดยไม่ให้ผู้สูงอายุรู้ตัว เพราะอาจทำให้ขัดเขินหายใจเร็วขึ้นหรือช้าลงได้

แชร์บทความนี้:

Health at home
ทีมแพทย์ พยาบาล เฮลท์ แอท โฮม

ทีมนักเขียนจากสหวิชาชีพ ของบริษัทเฮลท์ แอท โฮม มีความตั้งใจจะเผยแพร่ความรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่บ้าน ให้เป็นประโยชน์กับคนไทย