“แผลกดทับ” เกิดจากอะไร? ดูแลรักษาอย่างไร? - คุยกับแพทย์ Health at Home
หลาย ๆ บ้านที่มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เคลื่อนตัวได้ยากมักจะประสบปัญหาผู้ป่วยเริ่มมีผื่นแดงจนไปถึงเกิดแผลกดทับ วันนี้ Health at Home และนายแพทย์อัศวิน โรจนสุมาพงศ์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จึงไได้รวมข้อมูลเรื่องการป้องกันและการดูแลแผลกดทับมาฝากกันครับ
แผลกดทับเกิดจากอะไร?
แผลกดทับ (Bedsores หรือ Pressure sores) คือ การบาดเจ็บของผิวหนังหรือชั้นใต้ผิวหนังที่เกิดจากการกดทับนาน ๆ ต่อเนื่อง แผลกดทับเจอได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเตียง หรือมีปัญหาในการเคลื่อนไหว เช่น ต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้หรือวีลแชร์เป็นเวลานาน ๆ ต่อเนื่อง แผลกดทับเกิดได้จากกลไกของการกดผิวหนังเป็นเวลานาน ๆ การเสียดสีกับเตียงหรือเสื้อผ้า และการฉีกขาด ของผิวหนังที่เกิดจากการครูดไถกับพื้นผิว เช่น การเคลื่อนย้ายตัวจากเตียง
แผลกดทับ มักเป็นได้ง่ายในบริเวณร่างกายที่เป็นปุ่มกระดูกแล้วเกิดการกดทับนาน ๆ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้แผลกดทับแย่ลง เช่น ความสกปรกหรืออับชื้นของผิวหนัง การเสียดสี ที่อาจทำให้เกิดแผลได้มากขึ้น หรือ เพิ่มโอกาสการติดเชื้ออักเสบแทรกซ้อนได้
บริเวณที่มักเกิดแผลกดทับ ได้แก่
- ก้นกบ
- ศอก
- สะโพก
- ส้นเท้า
- ข้อเท้า
- ไหล่
- หลัง
- ท้ายทอย

ตำแหน่งที่เกิดแผลกดทับได้บ่อย
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับ
- ผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และผู้สูงอายุมักมีผิวหนังที่บอบบางและบาดเจ็บได้ง่าย
- ติดเตียง จากสาเหตุของโรค หรือหลังการผ่าตัด
- ปัญหาการเคลื่อนไหว เช่น เป็นอัมพาต
- ภาวะอ้วน
- มีปัญหาด้านการกลั้นขับถ่าย
- ภาวะขาดสารอาหาร รับสารอาหารได้ไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายซ่อมแซมและฟื้นตัวจากการบาดเจ็บได้แย่ลง
- โรคร่วมที่ทำให้การไหลเวียนของเลือดแย่ลง เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคไต โรคหัวใจ หรือโรคที่ทำให้การเคลื่อนไหวแย่ลง เช่น โรคพาร์กินสัน
แผลกดทับอาจเกิดขึ้นได้หลังจากการกดต่อเนื่องนาน ๆ ระดับชั่วโมงหรือระดับวัน ส่วนใหญ่แผลกดทับสามารถรักษาหายได้หายขาด ยกเว้นบางกรณีที่มีการกดนาน ๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ผิวหนังที่เกิดการบาดเจ็บฟื้นตัวได้ไม่เหมือนเดิม
แผลกดทับสามารถป้องกันได้หากผู้ดูแลตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และปฏิบัติตามวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับ
วิธีป้องกันแผลกดทับ
- พลิกตัว หรือ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ หากผู้ป่วยไม่สามารถทำเองได้ ควรมีผู้ดูแลช่วยในการขยับพลิกตัว
- ตรวจดูผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูกหรือบริเวณที่มีการกดทับเพื่อสังเกตลักษณะที่บ่งบอกถึงภาวะแผลกดทับเบื้องต้น
- สีของผิวหนังมีลักษณะผิดปกติ เสื้อเช่นลักษณะผิวหนังแดงผิดปกติหรือคล้ำผิดปกติ โดยที่เมื่อกดบริเวณสีที่ผิดปกติจะไม่ซีดลง ซึ่งไม่เหมือนกับลักษณะของผื่นผิวหนังทั่วไป
- ลักษณะผิวหนังมีความอุ่น ความแข็งด้านหรือลักษณะผิวหนังนูนผิดปกติ
- มีอาการเจ็บหรือคันบริเวณผิวหนังที่มีการกดทับนาน ๆ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสารอาหารเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทโปรตีนและวิตามิน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุ อาจจำเป็นต้องเลือกชนิดและและรูปแบบของอาหารที่เหมาะสมให้รับประทานเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุมีภาวะขาดสารอาหาร
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากทำให้ มีการไหลเวียนของเลือดได้ไม่ดีและทำให้เกิดโอกาสการเป็นแผลกดทับได้ง่ายขึ้น
แผลกดทับมีกี่ระดับ?
แผลกดทับแบ่งได้เป็น 4 ระดับไล่ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนไปถึงระดับที่รุนแรง ได้แก่
ระดับที่ 1: ลักษณะผิวหนังแดงในบริเวณที่ถูกกดทับ เวลากดจะไม่ซีดจาง มีอาการเจ็บ

แผลกดทับระดับที่ 1
ระดับที่ 2: ลักษณะผิวหนังเริ่มมีแผลเปิดขนาดเล็กหรือตุ่มน้ำใส บริเวณรอบ ๆ แผลผิวหนังแดง และระคายเคือง

แผลกดทับระดับที่ 2
ระดับที่ 3: ลักษณะผิวหนังเริ่มเกิดแผลลึกขึ้นจนไปถึงชั้นใต้ผิวหนัง แผลกดทับระดับนี้อาจเห็นชั้นไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังลงไป

แผลกดทับระดับที่ 3
ระดับที่ 4: ลักษณะผิวหนังเป็นแผลลึกมากไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก

แผลกดทับระดับที่ 4
ในบางกรณีลักษณะของแผลกดทับ อาจไม่เป็นไปตามระดับข้างต้น
- ลักษณะของแผลกดทับที่เกิดขึ้น มีผิวหนังตายปกคลุม ลักษณะเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือสีน้ำตาล ทำให้บอกได้ยากว่าแผลกดทับอยู่ในระดับใด
แผลกดทับที่บอกระดับได้ยาก
- แผลกดทับ เริ่มเกิดในชั้นลึกของผิวหนังก่อนบริเวณผิวหนังด้านนอก ลักษณะของแผลกดทับนี่จะทำให้ผิวหนังดำคล้ำ หรือเกิดตุ่มน้ำที่มีเลือดอยู่ภายใน แผลกดทับลักษณะนี้ อาจกลายเป็นแผลกดทับระดับ 3 หรือระดับ 4 ได้อย่างรวดเร็ว
แผลกดทับระดับที่เกิดที่ชั้นใต้ผิวหนังก่อน
ยารักษาแผลกดทับ
ยาเพื่อป้องกันผื่นผิวหนัง และการอักเสบที่เพิ่มความเสี่ยงของแผลกดทับที่รุนแรงขึ้น
- Cavilon™ Durable Barrier Cream ทาครีมวันละครั้งสำหรับการขับถ่ายไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน อาจทาซ้ำบ่อยขึ้นหากมีการขับถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน เพื่อป้องกันผื่น
- Cavilon™ No Sting Barrier Film พ่นบริเวณที่สัมผัสสิ่งขับถ่ายซ้ำทุก 24-72 ชั่วโมง หรือถี่ขึ้นเป็นทุก 12 ชั่วโมงเมื่อมีผิวหนังแดงหรือถ่ายบ่อยครั้ง
- Zinc Paste ทาผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลกดทับ
- Duoderm Hydroactive Gel ทาผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลกดทับ
ข้อแนะนำสำหรับผู้ดูแลในการดูแลแผลกดทับ
แผลกดทับระดับที่ 1 หรือ 2 หาก ตรวจพบ ได้เร็ว สามารถรักษาหายเองได้ ส่วนแผลกดทับระดับที่ 3 หรือ 4 อาจรักษายากขึ้น ใช้เวลาในการรักษานาน และอาจจำเป็นต้องได้รับการทำแผลโดยบุคลากรทางการแพทย์ ฉะนั้นควรตรวจเช็คผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ
การป้องกันแผลกดทับสามารถทำได้โดย
- พลิกเปลี่ยนท่าอย่างสม่ำเสมอ หากสามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ควรขยับเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนบ่อย ๆ หากจำเป็นต้องได้รับการพลิกตัวจากผู้ดูแล ควรพลิกตัวทุกสองชั่วโมง แต่หากมีแผลกดทับอาจจะจำเป็นต้องพลิกให้บ่อยกว่าทุกสองชั่วโมง
- เลือกที่นอนหรือเบาะนั่งให้เหมาะสม เช่นที่นอนลม หรือฟูกรองนอนสำหรับป้องกันแผลกดทับ แต่ควรระมัดระวังไม่ใช่หมอนหรือที่รองนั่งบางชนิดที่อาจทำเกิดแผลกดทับได้มากขึ้น เช่น กรณีที่เกิดแผลแล้วใช้หมอนรองรูปโดนัทหรือวงกลมรองนั่งเพิ่อไม่ให้แผลสัมผัสกับเบาะ กรณีนี้ หมอนรองนั่งอาจกดทับผิวหนังบริเวณรอบ ๆ แผล ทำให้เลือดไหลเวียนได้แย่ลงและทำให้แผลกดทับที่เป็นอยู่แย่ลงหรือเป็นกว้างขึ้น
- ไม่กดหรือนวดบริเวณแผลกดทับ
การดูแลแผลกดทับ สามารถทำได้โดย
- แผลกดทับระดับที่ 1 สามารถทำความสะอาดได้ด้วยน้ำและสบู่ชนิดอ่อน เพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนังด้วยโลชั่นหรือมอยเจอไรเซอร์ที่ไม่เหนอะหนะ และหมั่นพลิกตัวให้บ่อยขึ้นเพื่อให้แผลกดทับดีขึ้น
- แผลกดทับระดับที่ 2 แนะนำให้ทำความสะอาดโดยน้ำเกลือล้างแผลเพื่อชะล้าง ความสกปรกหรือ คราบผิวหนังที่ตายออก ปิดแผลด้วยวัสดุทำแผลที่ออกแบบสำหรับการดูแลแผลกดทับ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
- แผลกดทับระดับที่ 3 และ 4 ควรได้รับการทำแผลเบื้องต้นจากบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ดูแลควรได้รับคำแนะนำวิธีการดูแลแผลต่อจากบุคลากรทางการแพทย์
การดูแลสุขภาพผิวหนังสามารถทำได้โดย
- ระมัดระวังการเคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วย ไม่ให้เกิดการเสียดสี หรือการครูดไถกับพื้นเตียงรุนแรงซึ่งจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของผิวหนังได้
- รักษาความสะอาดและความชุ่มชื้นของผิวหนัง
- สังเกตผิวหนังอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะบริเวณที่มีความเสี่ยงในการกดทับ
- หากลักษณะของแผลกดทับมีความเปลี่ยนแปลงควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนพอเพียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำพวกโปรตีน
- ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกิน
- สำหรับผู้ป่วยติดเตียง หากเป็นไปได้ แนะนำให้ออกกำลังกายโดยการยืดเหยียดเบา ๆ บนเตียงเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวและลดโอกาสการกดทับของผิวหนังจากการไม่ได้ขยับเป็นเวลานาน
หวังว่าบทความนี่จะช่วยให้ทุก ๆ ท่านที่กำลังดูแลผู้ป่วยได้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับอย่างมีประสิทธิภาพ และพักฟื้นได้อย่างเต็มที่นะครับ หากท่านใดต้องการปรึกษาการหาผู้ดูแลมืออาชีพสามารถแอดไลน์ได้โดยคลิกที่นี่ครับ
VDO ที่เกี่ยวข้องในการดูแลแผลกดทับ
ที่มาของข้อมูล
- ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับ
https://www.nhs.uk/conditions/pressure-sores/#:~:text=Pressure%20ulcers%20(also%20known%20as,for%20long%20periods%20of%20time - วิธีป้องกันแผลกดทับ
https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000740.htm - Credit: By Jmarchn - Own work, CC BY-SA 3.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=97147251 - ภาพแผลกดทับระดับ Credit: Prevention and Treatment of Pressure Ulcers: Quick Reference Guide (EPUAP)