โรค & การดูแล

โรคกระดูกพรุน สาเหตุ อาการ การดูแลและการรักษา - คุยกับแพทย์ Health at Home | Health at Home

โดย นพ. อัศวิน โรจนสุมาพงศ์ · 2023-07-13

โรคกระดูกพรุน สาเหตุ อาการ การดูแลและการรักษา

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โรคกระดูกพรุนจะทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการพลัดตกหกล้ม การบาดเจ็บที่โดยทั่วไปหากเกิดในคนปกติอาจไม่รุนแรง แต่ในผู้ที่มีโรคกระดูกพรุนอาจเกิดการบาดเจ็บจนกระดูกหักได้

ภาวะที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง

ตำแหน่งที่มีการหักได้บ่อย เช่น ข้อมือ สะโพก กระดูกสันหลัง การหักของกระดูกตำแหน่งเหล่านี้ หากเกิดในผู้สูงอายุ จะฟื้นตัวได้ช้า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะติดเตียง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะติดเตียงตามมามากมาย

การป้องกันอาจจะต้องเริ่มต้นจากความตระหนักถึงความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน การป้องกันภาวะกระดูกพรุน และการป้องกันไม่ให้เกิดการพลัดตกหกล้มหรืออุบัติเหตุ

ภาวะโรคกระดูกพรุนคืออะไร?

โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสร้างเซลล์กระดูกไม่สัมพันธ์กับการสลายของกระดูก กล่าวคือ โดยทั่วไปเซลล์กระดูกจะมีการสร้างและมีการสลายอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น หรือมีปัจจัยเสี่ยง การสร้างของเซลล์กระดูกใหม่จะทำได้น้อยลง ไม่ทันกับการสลายของกระดูก ทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการหักของกระดูกได้

เซลกระดูกจะมีการดูดซึมและมีการสร้างใหม่อยู่ตลอด

สารอาหารที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคและการป้องกันโรคกระดูกพรุน

แคลเซียม

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน เพิ่มความหนาแน่นให้มวลกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง นอกจากนี้ แคลเซียมยังมีส่วนช่วยในการควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างปกติ เช่น การเต้นของหัวใจ การหดของกล้ามเนื้อ การทำงานของระบบประสาท เป็นต้น

วิตามินดี

วิตามินดี มีส่วนช่วยในการควบคุมแคลเซียม และสารฟอสเฟต ในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง หากมีการขาดสารวิตามินดี จะทำให้เกิดการสร้างกระดูกที่ผิดปกติ ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับการได้รับวิตามินดีตั้งแต่เด็กจะทำให้เด็กมีลักษณะของการสร้างกระดูกที่ไม่แข็งแรงและมีลักษณะผิดปกติ (Ricket) ได้

โรคกระดูกพรุนมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร?

โรคกระดูกพรุน จะทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บกระดูกหักจากกลไกอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน แบ่งได้เป็น ปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ และ ปรับเปลี่ยนไม่ได้

ปัจจัยที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่

  • อายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีจะมีความเสี่ยงสูง
  • เพศ ในเพศหญิงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุนได้มากกว่า
  • ประวัติคนในครอบครัวมีภาวะกระดูกพรุน หรือ มีภาวะกระดูกหักจากประวัติอาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง
  • การเข้าสู่ภาวะวัยทองในเพศหญิง หากเข้าสู่ภาวะวัยทอง หรือ มีการผ่าตัดรังไข่จนทำให้เข้าสู่ภาวะวัยทองเร็ว หรือ เข้าสู่ภาวะวัยทองเร็วด้วยสาเหตุใด ๆ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลในการปกป้องกระดูก การที่เข้าสู่วัยทองจะทำให้กระบวนการสลายของกระดูกเร็วขึ้น
  • การรับประทานยาบางตัวที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ เช่น เสตียรอยด์
  • โรคประจำตัวบางโรค เช่น โรครูมาตอยด์ ภาวะขาดสารอาหาร โรคเรื้อรังหลาย ๆ โรค โรคมะเร็ง เป็นต้น

ปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่

  • การดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกหักได้
  • การสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสะโพกหักมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า
  • ดัชนีมวลกายน้อย คือ คนที่ผม มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19 kg/m^2 เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาวะกระดูกพรุน
  • ภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะ แคลเซียม และ วิตามินดี ซึ่งวิตามินดี นอกจากจะได้รับจากการรับประทานอาหารแล้ว ยังเกิดได้จากการสังเคราะห์จากการสัมผัสแสงแดดอีกด้วย ในผู้ที่ออกกลางแจ้งน้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่ได้สัมผัสแสงแดด ก็ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการขาดวิตามินดี
  • การขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ หากขาดการออกกำลังกายย่อมจะทำให้กระดูกมีความแข็งแรงลดลง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อทั้งภาวะกระดูกพรุนและการบาดเจ็บในอนาคตได้

ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไป ภาวะกระดูกพรุนจะไม่แสดงอาการ แต่จะส่งผลเมื่อมีการบาดเจ็บ จนมีกระดูกหัก หรือการยุบตัวของกระดูก ความผิดปกติที่อาจบ่งบอกถึงภาวะกระดูกพรุน ได้แก่

  • ส่วนสูงลดลง หรือ มีอาการหลังงุ้มงอ ในผู้สูงอายุ การที่ส่งสูงลดลง อาจเกิดจากภาวะกระดูกพรุน ทำให้กระดูกสันหลังบางข้อมีการยุบตัว ส่งผลต่อความสูงได้ โดยที่อาจไม่มีอาการปวด
  • มีอาการปวดหลังส่วนล่าง จากการยุบตัวของกระดูกสันหลัง
  • กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือพลัดตกหกล้ม ซึ่งข้อสังเกตของการบาดเจ็บกรณีนี้คือ หากเกิดขึ้นกับคนปกติที่มีความหนาแน่นของกระดูกปกติ ไม่ควรจะทำให้ถึงกับกระดูกหัก ซึ่ง ตำแหน่งที่พบการหักได้บ่อยมักสัมพันธ์กับการพลัดตกหกล้ม เช่น ข้อมือ (มีการพยายามเอามือรองลำตัวขณะล้มตัว) สะโพก (ตำแหน่งที่มีการกระแทกบ่อย) กระดูกสันหลัง
กระดูกที่บางลงจะทำให้หลังงองุ้ม และหักได้ง่าย

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน สามารถทำได้โดยการตรวจมวลกระดูก (BMD; Bone mineral density) โดยใช้วิธีการ dual-energy x-ray absorptiometry (DXA) เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์ระดับต่ำในการตรวจความหนาแน่นของกระดูกแต่ละตำแหน่ง โดยเฉพาะ ตำแหน่งที่มีการหักบ่อย (สะโพก กระดูกสันหลัง) การวินิจฉัยจะทำได้โดยการเปรียบเทียบความหนาแน่นของมวลกระดูกกับค่าเฉลี่ยของผู้ที่อายุน้อยและสุขภาพดี และเปรียบเทียบกับความหนาแน่นมวลกระดูกเฉลี่ยของประชากรที่มีอายุ เพศ และเชื้อชาติเดียวกัน หากความหนาแน่นมวลกระดูกต่ำก็จะวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน และจะนำไปสู่คำแนะนำในการรักษาและป้องกันภาวะกระดูกพรุน

การตรวจ DEXA Scan เพื่อหาความหนาแน่นมวลกระดูก

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการคำนวณความเสี่ยงในการเกิดการกระดูกหัก คือ FRAX Score โดยใช้ประวัติ ได้แก่ เพศ อายุ ดัชนีมวลกาย พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคประจำตัว การกินยาสเตียรอยด์ รวมถึงประวัติครอบครัวที่มีประวัติเป็นกระดูกพรุน ซึ่ง หากคำนวณแล้วมีความเสี่ยงสูง ก็จะได้รับการวินิจฉัยและเข้าสู่แนวทางการรักษาเช่นกัน

การป้องกันและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน

การป้องกัน และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน และสำหรับผู้ที่วินิจฉัยโรคกระดูกพรุน ก็จะเน้นในการจัดการกับปัจจยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่

  • งด หรือ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ป้องกันภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ พยายามให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารให้เพียงพอ หากมีภาวะเบื่ออาหาร หรือกินได้น้อย ให้เสริมสารอาหารหรือหาวิธีให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ดีขึ้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก (Weight bearing exercise) เช่น การเดิน วิ่งจอกกิ้ง การออกกำลังกายแอโรบิค กระโดดเชือกเนื่องจากการออกกำลังกายจะมีกระบวนการกระตุ้นให้แคลเซียมกลับเข้าไปในกระดูกได้มากขึ้น ทำให้กระดูกมีความหนาแน่นขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ปลาเล็กที่กินได้ทั้งตัว กุ้งฝอย ผักใบเขียว นมและผลิตภัณฑ์จากนม ถ้วเหลือง เต้าหู้
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น น้ำมันตับปลา ปลาไขมันสูง (ทูน่า แซลมอน) ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม และอาจปรับวิถีชีวิตให้ออกสัมผัสแสงแดด เพื่อให้ร่างกายมีการสังเคราะห์วิตามินดีบ้าง กรณีที่ทำงานหรือใช้ชีวิตในร่มและมีโอกาสสัมผัสแสงแดดน้อย

ยาในการรักษาโรคกระดูกพรุน มียาอะไรบ้าง?

ยารักษาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนที่ใช้บ่อย คือ ยากลุ่ม Bisphosphonate ซึ่งจะชะลอการสลายของกระดูก ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกไม่ลดลง และสารอาหารเสริม ได้แก่ แคลเซียม ที่มีหน้าที่เสริมสร้างกระดูก และ วิตามินดี ที่ช่วยในการควบคุมแคลเซียมในการเสริมสร้างกระดูก

Alendronate (Fosamax) 70 มิลลิกรัม รับประทาน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ควรรับประทานในช่วงที่ท้องว่างก่อนอาหารมื้อเช้า ดื่มน้ำเปล่าตามอย่างน้อย 240 ml และไม่ควรทานอาหารอื่น ๆ หลังจากรับประทานยา 30 นาที เพื่อให้การดูดซึมดีที่สุด หลังรับประทานยา ต้องอยู่ในท่าตั้งตรงไม่น้อยกว่า 30-60 นาที (นั่งตัวตรงหรือยืนตัวตรง ห้ามก้ม ห้ามเอน ห้ามนอน) ไม่ควรรับประทานยาพร้อมนม กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำแร่ และยาเม็ดแคลเซียม เนื่องจากทำให้การดูดซึมยาบิสฟอสโฟเนตลดลง

Calcium Carbonate 600 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 - 2 ครั้ง

ควรรับประทานแคลเซียมหลังจากรับประทานอาหาร เนื่องจากกระเพาะอาหารจะมีสภาพเป็นกรด จะช่วยทำให้แคลเซียมคาร์บอเนตแตกตัวและละลายน้ำได้ดีมากขึ้น

Vitamin D3 (Alfacalcidol) 0.25 รับประทานวันละ 1 ครั้ง ( 1 - 4 เม็ด)

ควรรับประทานยาพร้อมอาหาร

ข้อแนะนำสำหรับการรักษากระดูกให้แข็งแรง

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก (Weight bearing exercise) เช่น การเดิน วิ่งจอกกิ้ง การออกกำลังกายแอโรบิค นอกจากนี้ ในผู้สูงอายุ การออกกำลังกายแบบเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และ การฝึกการทรงตัว จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุ (ซึ่งอาจมีหรือไม่มีโรคกระดูกพรุน) เกิดภาวะพลัดตกหกล้มได้
  • รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะ อาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดี (ปลาเล็กที่กินได้ทั้งตัว กุ้งฝอย ผักใบเขียว นมและผลิตภัณฑ์จากนม ถ้วเหลือง เต้าหู้ น้ำมันตับปลา ปลาไขมันสูง ไข่แดง)
  • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หยุดสูบบุหรี่

โรคกระดูกพรุน เป็นอีกโรคหนึ่งที่จัดว่าเป็นภัยเงียบ กล่าวคือ ตัวโรคจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะมีอุบัติเหตุหรือการกระทบกระแทกที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บกระดูกหัก การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุน จึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด การตระหนักถึงความเสี่ยง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงมีความสำคัญไม่ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงกลายเป็นโรคได้ ในผู้สูงอายุ นอกจากโรคกระดูกพรุนแล้ว การป้องกันการพลัดตกหกล้มก็เป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บจนต้องรับการรักษา นำไปสู่ภาวะติดเตียงและภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาได้

แหล่งอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์

ที่มารูปภาพ

ภาวะที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง
ภาพจาก https://www.mayoclinic.org

เซลกระดูกจะมีการดูดซึมและมีการสร้างใหม่อยู่ตลอด
ภาพจาก https://www.news-medical.net

กระดูกที่บางลงจะทำให้หลังงองุ้ม และหักได้ง่าย
ภาพจาก https://hlwe.com.my

การตรวจ DEXA Scan เพื่อหาความหนาแน่นมวลกระดูก
ภาพจาก https://www.nhs.uk

แชร์บทความนี้:

นพ. อัศวิน โรจนสุมาพงศ์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลลำปาง