โรค & การดูแล

ความรู้เรื่อง โรคพาร์กินสัน สาเหตุ อาการ และการรักษา - คุยกับแพทย์ Health at Home | Health at Home

โดย นพ. อัศวิน โรจนสุมาพงศ์ · 2023-06-27

โรคพาร์กินสัน คืออะไร?

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) เป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาทที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้มีอาการเกร็ง อาการสั่นแบบควบคุมไม่ได้ อาการเคลื่อนไหวช้า และทรงตัวไม่ดี โรคนี้ส่งผลต่อคุณภาพต่อชีวิตมาก ทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง หรือผู้ที่ดูแลหรืออยู่รอบข้าง

โรคพาร์กินสัน แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่ก็สามารถใช้ยาในการควบคุมอาการไม่ให้เป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยความรู้และเข้าใจตัวโรคทั้งจากตัวผู้ป่วยเอง และผู้ดูแล เพื่อให้อยู่กับภาวะนี้ได้อย่างเป็นปกติ

โรคพาร์กินสัน เกิดจากอะไร?

โรคพาร์กินสัน เกิดจากความเสื่อมของเซลสมองในส่วนที่เรียกว่า substantia nigra ความเสื่อมทำให้เซลล์สมองส่วนนี้หายไป ซึ่งเซลล์สมองส่วนนี้มีความจำเป็นในการสร้างสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า “โดปามีน”

โดปามีน เป็นสารเคมีในสมองที่ใช้ในการสื่อสารระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อเซลล์สมองส่วนที่สร้างเสียหายหรือมีน้อยลง สารโดปามีนน้อยลง จึงทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ เคลื่อนไหวช้าลง มีลักษณะอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ

ความเสื่อมหรือการลดลงของเซลล์สมองมีกระบวนการที่เป็นไปอย่างช้า ๆ อาการมักเกิดขึ้นหลังจากที่เซลล์สมองเสื่อมหรือหายไปประมาณ 50%

ในปัจจุบัน ยังมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เรื่องจากยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสัน แต่มีการสันนิษฐานว่า สาเหตุเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เป็นโรค

  • พันธุกรรม จากการศึกษาพบว่ายีนมีส่วนที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายเสี่ยงเกิดโรคพาร์กินสันได้ง่ายขึ้น
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับสารเคมีทางการเกษตร (ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า) การได้รับผลพิษจากการขนส่งจนาจร หรือจากโรงงาน อาจจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสันได้ แต่จากผลการสรุปก็ยังไม่สรุปได้ชัดเจน

นอกจากโรคพาร์กินสันแล้ว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคพาร์กินสันด้วยสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • การได้รับยาบางชนิด (drug-induced parkinsonism) เช่น ยารักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด อาจะทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติคล้ายโรคพาร์กินสันได้ กรณีนี้ การหยุดยามักทำให้อาการดีขึ้น
  • ความผิดปกติของสมองส่วนอื่น ๆ
  • โรคหลอดเลือดสมอง

โรคพาร์กินสัน มีกี่ระยะ?

โรคพาร์กินสัน แบ่งออกเป็น 5 ระยะ เรียงจากระยะต้นซึ่งมีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงระยะท้ายที่มีอาการมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิต ได้แก่

พาร์กินสันระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มาก อาการสั่นหรือการเคลื่อนไหวผืดปกติอาจเป็นเพียงข้างเดียว ระยะนี้อาจเห็นท่าทาง ลักษณะการเดิน หรือการแสดงสีหน้าเปลี่ยนแปลง (การทรงตัวเริ่มผิดปกติ สีหน้าเรียบเฉยไม่แสดงอารมณ์)

พาร์กินสันระยะที่ 2 อาการเริ่มเป็นมากขึ้น อาการสั่น หรือ อาการเกร็งของแขนขาเริ่มปรากฏชัดขึ้น และเป็นทั้งสองข้าง รวมถึงมีอาการที่คอและลำตัว การเดินจะเป็นปัญหามากขึ้น การทำกิจวัตรประจำวันจะทำได้ลำบากขึ้น

พาร์กินสันระยะที่ 3 ระยะกลาง ระยะนี้ การทรงตัวแย่ลง ทรงตัวไม่อยู่ขณะหมุนตัวหรือการโดนผลักเบา ๆ ระยะนี้จะมีความเสี่ยงในการล้มมาก การชวยเหลือตัวเองทำได้ลำบากมาก

พาร์กินสันระยะที่ 4 ระยะนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ไม่สามารถอยู่ผู้เดียวได้ ผู้ป่วยอาจยืนหรือเดินได้แต่มีความอันตราย จำเป็นต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน

พาร์กินสันระยะที่ 5 เป็นระยะท้าย ระยะนี้จะมีอาการขาเกร็ง ไม่สามารถเดินหรือยืนได้ ผู้ป่วยมักจะติดเตียง หรือ อยู่บนล้อนั่งอยู่ตลอด จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือตลอดเวลา

อาการของโรคพาร์กินสันเป็นอย่างไร?

โรคพาร์กินสัน แม้ว่าจะเป็นโรคที่แสดงออกเกี่ยวกับความผิดปกติของการเคลื่อนไหว แต่ก็มีอาการอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวเกิดร่วมในผู้ป่วยได้ อาการของโรคพาร์กินสัน จึงแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ อาการที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และ อาการอื่น ๆ

อาการหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ได้แก่

  1. การเคลื่อนไหวช้า
  2. การสั่นของร่างกาย
  3. อาการเกร็งกล้ามเนื้อ (การวินิจฉัยที่เข้าได้กับโรคพาร์กินสัน จะต้องมี อาการเคลื่อนไหวช้า ร่วมกับ การสั่น หรือ การเกร็งอย่างน้อย 1 อาการ)
  4. อาการทรงตัวไม่อยู่ (มักเกิดในช่วงหลังของการดำเนินโรค)

ลักษณะอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจสังเกตได้ ได้แก่

  1. แกว่งแขนลดลงขณะเดิน
  2. ลุกนั่งหรือเปลี่ยนท่า (เช่น พลิกตะแคงบนเตียง ลุกจากเตียง ลุก-นั่งเก้าอี้หรือเบาะรถ) ได้ลำบากขึ้น
  3. พูดไม่ชัด พูดเสียงเบาหรือแหบแห้ง ฟังลำบาก
  4. อาการยุกยิกหรืออาการอยู่ไม่นิ่ง
  5. เดินซอยก้าวเท้าสั้น ๆ หรือ เดินติดขัด ก้าวขาลำบาก
  6. ใบหน้าเรียบเฉย แสดงอารมณ์น้อยลง
  7. ลักษณะท่าทางตัวงุ้มงอ
  8. ลักษณะการเขียนหนังสือผิดปกติ ตัวหนังสือจะเล็ก ๆ ขยุกขยุย เนื่องจากการเคลื่อนไหวผิดปกติ

อาการอื่น ๆ นอกจากการเคลื่อนไหวผิดปกติ ได้แก่

  • ปัญหาภาวะสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า ภาวะวิตกกังล ภาวะแสดงออกทางอารมณ์น้อยกว่าปกติ
  • ปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อาการปวด การนอนผิดปกติ การสื่อสารยาก การรับประทานหรือการกลืนติดขัด
  • ปัญหาด้านสมาธิ ความจำ หรือการรับรู้ เช่น ความจำเสื่อม หลงลทม การเห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว
  • ปัญหาด้านการควบคุมการขับถ่าย ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก
  • ประสาทสัมผัสผิดปกติ เช่น ได้กลิ่นลดลง การมองเห็นแย่ลง การรับรู้ความรู้สึกสัมผัสผิดปกติ

วิธีป้องกันโรคพาร์กินสัน

เนื่องจากสาเหตุของโรคพาร์กินสันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จึงไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการป้องกัน แต่บางงานวิจัยพบว่า การออกกำลังกายแบบ aerobic exercise สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคพาร์กินสันได้

วัยรุ่นเป็นโรคพารกินสันได้หรือไม่?

แม้ว้าโรคพาร์กินสันจะเกิดกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่พบว่า มีผู้ป่วยบางส่วนที่ถูกวินิจฉัยก่อนอายุ 50 ปี อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีจำนวนค่อนข้างน้อย(ประมาณ 2 - 4 % ของผู้ปวยอัลไซเมอร์ทั้งหมด) เมื่อเทียบกับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุ

อาหาที่ควรเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

  • อาหารไขมันสูง
  • อาหารแปรรูป
  • กรณีที่มีการใช้ยารักษากลุ่ม Levodopa ควรหลีกเลี่ยงธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กจะลดการดูดซึมยา
  • อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • อาหารที่เคี้ยวลำบาก

ยาที่ใช้ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

กลุ่มยา Levodopa ช่วยเพิ่มระดับโดปามีนให้สูงขึ้น เช่น Madopar Vopar Sinemet Levomet Stalevo

กลุ่มยา Dopamine agonist เป็นยาที่สังเคราห์ขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทน Dopamine เช่น Pramipexole Apomorphine Bromocriptine Ropinirole

กลุ่มยาที่ยับยั้งเอนไซม์ Cathechol-O-Methyltransferase (COMT) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลาย Dopamine การยับยั้งเอนไซม์นี้ทำให้ Dopamine มีปริมาณมากขึ้นและออกฤทธิ์ได้นานขึ้น เช่น Entacarpone

กลุ่มยาที่ยับยั้งเอนไซม์ Monoamine Oxidase (MAO inhibitors) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลาย Dopamine การยับยั้งเอนไซม์นี้ทำให้ Dopamine มีปริมาณมากขึ้นและออกฤทธิ์ได้นานขึ้น เช่น Jumex Sefmex Marplan

ที่มาของข้อมูลโรคพาร์กินสัน

ที่มารูปภาพ

แชร์บทความนี้:

นพ. อัศวิน โรจนสุมาพงศ์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลลำปาง