โรค & การดูแล

ข้อแนะนำจากแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) | Health at Home

โดย นพ. อัศวิน โรจนสุมาพงศ์ · 23 ธันวาคม 2565

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร อาการเป็นอย่างไร

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะอันตรายที่เกิดจากการที่สมองขาดเลือด เนื่องจากที่เส้นเลือดที่เลี้ยงสมองมีการตีบ อุดตัน หรือเส้นเลือดมีการแตก อาการที่ปรากฏ อาจมีได้ตั้งแต่มีการอ่อนแรงเฉพาะส่วน อ่อนแรงแขน ขา ใบหน้าขยับไม่ได้ หรืออ่อนแรงครึ่งซีกของร่างกาย หรือที่เรารู้จักกันในภาวะ อัมพฤกษ์หรืออัมพาต หากลักษณะของหลอดเลือดมีการแตก อาจมีอาการรุนแรง เช่น มีการกดของเนื้อสมองจากเลือดที่ไหลออก ทำให้นอกจากจะมีอาการอ่อนแรงแล้ว อาจมีผลต่อความรู้สึกตัว หรือมีปัญหากับการหายใจและการทำงานของสมองได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับการรักษาล่าช้า โรคหลอดเลือดสมอง ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการทุบพลภาพอย่างถาวรได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้

อาการที่พบได้บ่อยและเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ได้แก่

  • เวียนศีรษะเฉียบพลัน ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะรุนแรงทันที
  • ตาพร่ามั่วทันที มองไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน
  • ใบหน้าชา หรืออ่อนแรง เป็นลักษณะของใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก มุมปากตก ไม่สามารถยิ้มได้
  • แขนชาหรืออ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง
  • ปากเบี้ยวพูดไม่ชัดหรือพูดลำบาก

การวินิจฉัย มักทำได้โดย

  • การซักประวัติ เพื่อดูลักษณะของอาการและระยะเวลาที่เกิดขึ้นว่า ลักษณะอาการเป็นอย่างไร เป็นมานานเท่าใด มีประวัติความเสี่ยงหรือไม่ รวมทั้งประเมินความเสี่ยงในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียดเพื่อประเมินขั้นต้นว่า มีโอกาสที่ หลอดเลือดสมองส่วนใดที่เกิดปัญหาขึ้น
  • การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) เพื่อดูลักษณะความผิดปกติของสมองและหลอดเลือดสมองว่า มีการอุดตันหรือมีการแตกของหลอดเลือดในส่วนใด และกระทบต่อสมองส่วนไหนบ้าง

ฉะนั้น วิธีการจำง่ายๆ สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง มีตัวย่อ คือ “BEFAST”

B: Balance → อาการเสียการทรงตัว เวียนหัวเฉียบพลัน ปวดศรษะรุนแรงทันที

E: Eye → ตาพร่ามัว มองไม่ชัด

F: Face → ใบหน้าเบี้ยว

A: Arm → แขนตก มีอาการแขนอ่อนแรง

S: Speech → พูดไม่ชัด

T: TIME → หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง

  1. โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) คือ ความผิดปกติที่เกิดจากการที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองตีบหรืออุดตัน มัก เกิดใน ผู้ที่มี ปัจจัย เสี่ยง ที่ทำให้เกิดการอุดตันของ หลอดเลือด เช่น มี โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกายหรือการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ปัจจัยเสี่ยงต่างๆจะทำให้ผนังหลอดเลือด หนาและแข็งตัวทำให้เกิดการตีบและอุดตันได้ง่ายกว่าคนปกติ ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมานอกจากจะส่งผลต่อหลอดเลือดสมองแล้ว อาจส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวายได้อีกด้วย
  2. โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) คือ ความผิดปกติที่เกิดจากการที่หลอดเลือดแดงไปเลี้ยงสมองมีการแตก มักเกิด ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดได้ นอกจาก ปัจจัยเสี่ยงเรื่องความดันโลหิตแล้วอาจมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลือดสมองแตกได้มากขึ้น เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง เช่น หลอดเลือดสมองโป่งพอง
  3. โรคสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient ischemic attack – TIA) คือ ความผิดปกติที่เกิดจากการที่สมองมีภาวะขาดเลือดชั่วคราวแล้ว อาการหายได้เองเป็นอยู่ไม่นาน เช่นเป็นอยู่ประมาณ 5 - 15 นาที ลักษณะนี้แม้ว่าเนื้อสมองจะไม่ได้รับอันตรายเป็นการถาวรแต่มักเป็นสัญญาณเตือนว่าเกิดความผิดปกติบางอย่างกับหลอดเลือดสมองแล้ว ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม

ปัจจัยที่ทำให้ก่อให้เกิดโรค

  1. พฤติกรรม การทานอาหาร “หวาน - มัน - เค็ม” เกินพอดี
    • หวาน: รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ทำให้เกิดปัญหาเบาหวาน ระดับน้ำตาลสูง เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดได้
    • มัน: การรับประทานอาหารทอด อาหารมัน ทำให้มีระดับไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันคลอเรสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดตีบอุดตันได้
    • เค็ม: การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อหลอดเลือดได้
  2. การขาดการออกกำลังกาย
  3. การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์
  4. ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะผนังหลอดเลือดแข็ง การเต้นของหัวใจผิดปกติจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจได้ง่ายขึ้น และลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นอาจหลุดไปอุดตันที่อวัยวะส่วนปลาย ในกรณีนี้ คือ สมอง ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้

ยาสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่ผู้ดูแลควรรู้

  • ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet) เช่น
    • Aspirin (81 mg) เพื่อป้องการแข็งตัวของเลือด
      • ปริมาณการใช้ยา 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง
    • Clopidogrel (75 mg) เพื่อป้องการแข็งตัวของเลือด
      • ปริมาณการใช้ยา 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง
  • ยาละลายลิ่มเลือด (anticoagulant) เช่น
    • Warfarin ปริมาณแล้วแต่การปรับของแพทย์
      • มักใช้ในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลืดสมองในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ยาลดไขมัน (statin) เช่น
    • Simvastatin (10 - 40 mg) เพื่อลดระดับไขมันในเลือด
      • ปริมาณการใช้ยา 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน
    • Atorvastatin (20 - 40 mg) เพื่อลดระดับไขมันในเลือด
      • ปริมาณการใช้ยา 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน
    • Rousvastatin (10 - 20 mg) เพื่อลดระดับไขมันในเลือด
      • ปริมาณการใช้ยา 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน
  • ยาลดความดันโลหิต เช่น
    • Enalapril 5 - 40 mg ต่อวัน
    • Amlodipine 5 - 10 mg ต่อวัน
    • Manidipine 10 - 40 mg ต่อวัน
    • Losartan 50 - 100 mg ต่อวัน
    • Atenolol 50 - 100 mg ต่อวัน
      • ปริมาณการใช้ยาลดความดันโลหิต ขึ้นกับการปรับรักษาตามระดับความดันโดยแพทย์

มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในบ้าน ควรดูแลอย่างไร?…

  1. กระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง
  2. ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจวัตร และให้โอกาสผู้ป่วยทำด้วยตนเองหากพอทำได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูทักษะในการทำกิจวัตรด้วยตนเอง
  3. ปรับเปลี่ยนบ้านและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสะดวกในการทำกิจวัตรด้วยตนเอง และเคลื่อนที่ไปมาในบ้าน ระมัดระวังการพลัดตกหกล้มระหว่างที่ผู้ป่วยเคลื่อนตัวทั้งในบ้านและนอกบ้าน
  4. ช่วยผู้ป่วยในการจัดการยา และสังเกตอาการผิดปกติ หรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา
  5. สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการอ่อนแรงมากขึ้น
  6. ให้กำลังใจผู้ป่วยเสมอ
  7. ผู้ที่ดูแลผู้ป่วย ควรมีเวลาดูแลสุขภาพตนเอง และแบ่งเวลาพักผ่อนจากการดูแลผู้ป่วยเพื่อลดความเครียดและความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้น
  8. หาผู้ดูแลที่มีความเชี่ยวชาญ หากท่านใดต้องการผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถปรึกษาหาผู้ดูแลได้ทางการ แอดไลน์ที่นี้ ครับ

VDO ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจาก Health at Home

วิธีการเช็ดตัวผู้ป่วยติดเตียง - คุณแนน พยาบาลวิชาชีพ เฮลท์ แอท โฮม

สอนทำกายภาพบำบัดขา อย่างง่าย โดย คุณแนน รัชดาภรณ์ หงษ์ทอง พยาบาลวิชาชีพของเฮลท์ แอท โฮม

ไม่ต้องพลิกผู้ป่วยแบบผิดๆกันอีกต่อไป มาเรียนรู้เทคนิคการพลิตตะแคงตัวผู้ป่วยกัน กับครูแนน

สรุปเทคนิค 3 อุปกรณ์ที่ผู้ดูแลต้องใช้เป็น "ไม้เท้า+รถเข็น+วอร์กเกอร์" ครูแนน รัชดาภรณ์ พยาบาลวิชาชีพ

ที่มารูปภาพ

https://www.theeuclidobserver.com/articles/b-e-f-a-s-t-save-a-life/

www.freepik.com/free-photo/elderly-patients-bed-asian-senior-woman-patients-headache-hands-forehead-medical-healthcare

แชร์บทความนี้:

นพ. อัศวิน โรจนสุมาพงศ์
แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลลำปาง