โรค & การดูแล
โดย นพ. อัศวิน โรจนสุมาพงศ์ · 2022-06-29
เบาหวานคือ โรคที่มีความผิดปกติของขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับอินซูลิน ที่เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อนเพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าระดับปกติ
โรคเบาหวานมีด้วยกัน 4 ประเภท
1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เด็ก ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับอินซูลินทดแทน
2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T2DM) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน จัดเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อที่สร้างปัญหาสุขภาพ และภาวะแทรกซ้อนอย่างมาก
3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการวินิจฉัยในช่วงตั้งครรภ์ การดูแลรักษามีความสำคัญเนื่องจากส่งผลต่อการคลอดและสุขภาพของทารก
4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes) เกิดจากสาเหตุจำเพาะที่เป็นกลไกที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน เช่น โรคทางพันธุกรรม ตับอ่อนทำงานผิดปกติ โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น
วิธีการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน สามารถทำได้ 4 วิธี
1. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมีค่าตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ถือว่าวินิจฉัยเบาหวาน
2. การทดสอบความทนต่อกลูโคส โดยให้รับประทานน้ำหวานที่ประกอบด้วยน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่ 2 ชั่วโมง หากมีค่าตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ถือว่าวินิจฉัยเบาหวาน
3. การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) มีค่าตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป ถือว่าวินิจฉัยเบาหวาน
4. มีอาการโรคเบาหวานชัดเจน ได้แก่ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ร่วมกับตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ถ้ามีค่าตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ถือว่าวินิจฉัยเบาหวาน
เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงอาการเป็นอย่างไร?
อาการที่พบได้ในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเบื้องต้น ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลียวิงเวียน และสายตาพร่ามัว หากมีระดับน้้ำตาลในเลือดสูงมาก จะทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด อาการดังกล่าวจะรุนแรงขึ้น รวมทั้งมีอาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดท้อง หายใจหอบผิดปกติ สับสน หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ฉะนั้น หากเริ่มมีสัญญาณของภาวะน้ำตาลสูง ควรรีบตรวจค่าน้ำตาลในเลือดหรือมาพบแพทย์โดยด่วน
และแม้ว่าผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่มีน้ำตาลสูงหลายรายอาจจะไม่มีอาการปรากฏชัดเจน แต่การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงระยะยาวส่งผลต่อหลอดเลือดขนาดเล็กในร่างกายซึ่งจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่มีประสิทธิภาพ อวัยวะส่วนปลายที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงได้ก็จะเกิดปัญหา เช่น เบาหวานขึ้นตา ทำให้การมองเห็นแย่ลง เบาหวานส่งผลต่อไตทำให้การเสื่อมของไตเร็วขึ้น เบาหวานทำให้แผลหายช้า โดยเฉพาะรยางค์ส่วนปลาย เช่น ขา เท้า ทำให้มีการชา เวลาเกิดการบาดเจ็บจะไม่รู้สึก ทำให้แผลอักเสบ ติดเชื้อ และหายช้า กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดเท้าหรือขาส่วนที่มีการเน่้าหรือติดเชื้อได้ ยิ่งไปกว่านั้น อวัยวะส่วนที่สำคัญ ได้แก่ หัวใจ และสมอง ซึ่งมีหลอดเลือดไปเลี้ยง เบาหวานเพิ่มความเสี่ยงให้มีการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเหล่านี้ได้ หากอวัยวะทั้งสองมีการขาดเลือดแม้เพียงชั่วครู่ก็อาจส่งผลต่อชีวิตได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือเป็นอัมพฤกษ์อัมพาทได้
ค่าน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม
การตรวจระดับน้ำตาล ไม่ว่าจะด้วยตนเองด้วยการเจาะปลายนิ้ว หรือที่สถานพยาบาล มักจะแนะนำให้งดน้ำงดอาหารก่อนการตรวจ 8 ชั่วโมง (โดยทั่วไปเรามักแนะนำให้งดน้ำงดอาหารตอนเที่ยงคืน เนื่องจากจะได้เว้นระยะห่างก่อนการเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง) สำหรับคนปกติ ค่าน้ำตาลปกติควรอยู่ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากมีระดับตั้งแต่ 101 - 125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะจัดว่าเป็น กลุ่มเสี่ยงเบาหวาน (Impaired fastig glucose) หากสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป จะเข้าเกณฑ์ว่าอาจเป็นโรคเบาหวาน
การดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวาน
การดูแลผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนั้น จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกายหรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย และในผู้ป่วยบางรายอาจจะจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เสี่ยงเบาหวาน (รวมถึงคนทั่วไป) ควรลด หรืองดารดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
เป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โดยทั่วไปคือ ระดับน้ำตาลที่ไม่สูง หรือไม่ต่ำจนเกินไป โดยทั่วไป ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ประมาณ 90 - 130 มิลิลกรัม/เดซิลิตร ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ไม่เกิน 7% และ ควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆ ให้ได้ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
การออกกำลังกายที่เหมาะสม ถ้าต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด น้ำหนักตัว และลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แนะนำให้ออกกำลังกายด้วยความรุนแรงปานกลาง 150 นาที/สัปดาห์ หรือออกกำลังกายอย่างหนัก 90 นาที/สัปดาห์ ควรกระจายอย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ และไม่งดออกกำลังกาย 2 วันติดต่อกัน
การเลือกรับประทานอาหาร วิธีการง่ายๆ ในการเลือกรับประทานเพื่อดูแลสุขภาพโดยเฉพาะโรคเบาหวาน คือ การจัดจานเพื่อวางแผนการกินในแต่ละมื้อ หลักการที่จำได้ง่ายๆ และทำได้ง่ายๆ คือ “ผักครึ่งนึง อย่างอื่นครึ่งนึง”
ผักครึ่งนึง: ผักครึ่งจาน เน้นผักใบและก้าน กินให้หลากหลายชนิดและสีในแต่ละวัน
อย่างอื่นครึ่งนึง: ข้าวแป้ง ¼ จาน เน้นข้าวและธญพืชที่ขัดสีน้อย และ เนื้อสัตว์ ¼ จาน เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่มีมัน ไข่ และเนื้อปลา
การดูแลผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
1. การจัดอาหาร ควรควบคุมอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลไม่สูงเกินไป
2. หากเป็นไปได้ ควรฝึกวิธีการเจาะตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังน้ำตาลต่ำหรือสูงผิดปกติได้
3. รักษาความสะอาด โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีแผล ต้องทำความสะอาดและดูแลอย่างใกล้ชิด
4. หากเป็นผู้ป่วยติดเตียงควรได้รับการพลิกตะแคงตัวเป็นประจำเพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับ
รวม VDO สาธิตการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
ผลไม้สำหรับคนเป็นเบาหวาน
1. ส้ม มีใยอาหารและมีวิตามินซีสูง สามารถทานได้ 1 -2 ผล ต่อมื้อ
2. ฝรั่ง มีใยอาหารสูง สามารถทานได้ ½ ผลต่อมื้อ
3. แอปเปิ้ล มีใยอาหารสูง สามารถทานได้ 1 -2 ผล ต่อมื้อ
4. กล้วยน้ำว้า มีใยอาหารสูง และช่วยในการขับถ่าย สามารถทานได้ 2 - 3 ผลต่อมื้อ
5. สาลี่ มีใยอาหารสูง สามารถทานได้ 1 -2 ผล ต่อมื้อ
6. มะม่วงดิบ มีน้ำตาลต่ำ และดัชนีน้ำตาลต่ำ ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลพุ่งสูงเร็ว ทานได้ ½ ผลต่อมื้อ
7. แก้วมังกร มีใยอาหารสูง และดัชนีน้ำตาลต่ำ ทานได้ 4 - 5 ชิ้นต่อมื้อ
หวังว่าทุกท่านจะได้ความรู้เกี่ยวการโรคเบาหวานเพื่อนำไปดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธีเพื่อให้การพักฟื้นของผู้ป่วยเบาหวานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากท่านใดต้องการผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถแอดไลน์ ติดต่อทีมงานของเฮลท์ แอท โฮม ได้โดยคลิกที่นี้ครับ