โรค & การดูแล

CAREGIVER 101 Ep. 4 : ทริคลับการดูแลผู้ป่วยติดเตียง | Health at Home

โดย พาย ภาริอร · 19 มีนาคม 2563

1. ปรับ mindset

Mindset ที่ดี จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราดูแลผู้ป่วยได้ในระยะยาวด้วยความสุขค่ะ คืองานดูแลคนป่วยเป็นงานที่หนักอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และไม่รู้ว่าจะดำเนินไปถึงเมื่อไหร่ ไม่เหมือนงานอื่นๆ ที่เรารู้เดดไลน์ว่ามันมีวันจบ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีเทคนิคในการปรับวิธีคิดที่ดีพอ สุดท้ายแล้วเราจะรู้สึกว่าการต้องแบ่งเวลา แบ่งชีวิตส่วนตัวให้กับการดูแลคนป่วยมันเป็นภาระมากกว่าเป็นโอกาสของชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นอย่างหลังนะ :)

ไม่เร่ง ไม่ฝืน โฟกัสที่ความสุข : ไม่เร่ง คือไม่ต้องกดดันกันจนเกินไป ไม่เอาเวลามาเป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัด (เช่น เดือนนี้ต้องเดินเองได้ ปีหน้าต้องกลับมาทำงานได้ แบบนี้เคร่งเครียดเกินไป) / ไม่ฝืน คืออะไรที่ไม่ไหวจริงๆ ทำไม่ได้จริงๆ (หรือกลับไปทำให้เหมือนเดิมไม่ได้จริงๆ) ให้หาทางออกร่วมกันตรงกลาง / โฟกัสที่ความสุข คือการเข้าใจให้ถึงแก่นว่า เรื่องร่างกายสำคัญนะ สมรรถภาพในการใช้ชีวิตสำคัญ แต่ความสุขทางใจสำคัญมากๆ ไม่แพ้กัน คนป่วยที่ถูกบังคับมากจนเกินไปเพื่อฟื้นฟูร่างกาย บางครั้งเขาเครียด กลายเป็นว่าเขาไม่มีความสุข มันเป็นการอยู่โดยไม่มีแพสชั่น ไม่มีพลัง เหมือนอยู่เพื่อคอมพลีทมิชชั่นของคนรอบตัวเขาไปวันๆ เพราะงั้นสิ่งที่ต้องห้ามละเลยเด็ดขาดคือ ใส่ใจกับความสุขทางใจของเขาด้วยนี่แหละ

จริงๆ ถ้าเราสามารถตั้งธงปรับมุมมองของเราได้ตั้งแต่ต้นเลยจะดีที่สุดค่ะ คีย์ทั่วๆ ไปที่เราตกตะกอนเองแล้วรู้สึกก็คือ ‘ให้ยอมรับ “ความเป็นมนุษย์” ทั้งของเราและของคนที่เราดูแล’ มันมีบางวันที่เหนื่อย บางวันที่ท้อ บางวันที่หงุดหงิดกัน แต่ไม่เป็นไร มันเกิดขึ้นได้ เพราะเราเป็นมนุษย์นี่แหละ แต่หัวใจสำคัญคือการปรับจูนเข้าหากันให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน ค่อยๆ หาวิธีที่จะดีลกันได้อย่างลงตัว อีกเรื่องคือการดูแล “ด้วยความรู้สึกเต็มใจ” เพราะเมื่อไหร่ที่ทำเพราะคิดว่ามันเป็นหน้าที่ มันจะทำได้ไม่นาน ที่สุดแล้วเรื่องของ Mindset มันอาจจะไม่ได้มีแค่ชุดเดียวก็ได้นะ แค่ตั้งธงให้ถูกแต่แรก แล้วสุดท้ายมันจะค่อยๆ ปรับไปเองตามธรรมชาติ ยิ่งเรามีประสบการณ์ในการดูแลคนป่วยเพิ่มขึ้น Mindset เราก็จะถูกหลอม ถูกขัดเกลามากขึ้นด้วย ตอนดูปีแรก กับปีที่ 11 Mindset เราอาจจะไม่ใช่ชุดเดิม แต่เป็นชุดที่เหมาะกับการดูแลในแต่ละช่วง รับกับความท้าทายที่เข้ามาในแต่ละช่วงมากกว่า

ซึ่ง Mindset ที่ดีของคนดูแลคนป่วย จะช่วยให้คนป่วยมีคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดีนะ คือเรารู้ว่าควรจะต้องปรับ เปลี่ยน เพิ่มเติม หรือลดทอนอะไรในการดูแลเขา ทั้งในเรื่องชีวิตประจำวันและเรื่องความรู้สึก การดีลกันต่างๆ กับตัวคนดูแลคนป่วยเอง ก็เหมือนเป็นการ Maintain สุขภาพใจและวิธีคิดที่ดีไปด้วย เรียกว่าการตั้ง Mindset ที่ดีและถูกแต่แรก จะช่วยให้เราเหนื่อยกายและใจน้อยลง มีแรงจะดูแลคนป่วยของเราต่อไปได้นานๆ

จริงๆ แล้วการปรับ Mindset ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ค่ะ :) แต่ยอมรับว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทำกันได้ภายในวันเดียว เรียกว่ามันไม่ได้เกิดจากความตั้งใจชั่วข้ามคืนที่ว่า ‘พรุ่งนี้ตื่นมาจะคิดอีกแบบให้ได้เลย’ (แล้วจะสามารถทำได้เลยในทันที) แต่มันมาจากการค่อยๆ สังเกตรายละเอียดในชีวิต แล้วเปิดใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ลองพลิกมองสถานการณ์ในชีวิตในมิติใหม่ๆ บ้าง ดังนั้นถึงจะไม่ได้เปลี่ยนได้แบบปุบปับ แต่ก็เชื่อว่าไม่ได้ยากเกินจะลองค่ะ (และไม่เป็นอะไรเช่นกัน ถ้ามันจะไม่ได้สามารถทำได้เลยในทันทีนะ)

ข้อดีของการเปลี่ยน Mindset ก็คือว่ามันแตกต่างจากการเปลี่ยนอย่างอื่นๆ ตรงที่เหมือนเรามีของเดิม อาจจะต้องอยู่ในเงื่อนไข ข้อจำกัด สถานการณ์เดิม แต่พอมองมันในมุมใหม่ ของชิ้นเดิม สถานการณ์เดิมนั้นมันก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปค่ะ ดังนั้นวิธีการเปลี่ยน Mindset เลยเป็นอะไรที่เหมาะมากๆ สำหรับคนที่เผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่ รวมถึงคนที่เป็นคนป่วย และคนดูแลคนป่วยด้วยค่ะ

2. เปลี่ยนจากแปรงสีฟันผู้ใหญ่เป็นแปรงสีฟันเด็ก

อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการหมั่นสังเกตคนป่วยของเราค่ะ พายว่าคนป่วยบางทีเหมือนเด็กเล็ก คือเขาไม่ได้สื่อสารความต้องการหรือปัญหาของเขาออกมาตรงๆ (หรือบางทีอาจจะอยากทำ แต่ทำไม่ได้) ดังนั้นเราต้องช่วยเขาครึ่งนึง ด้วยการช่างสังเกตด้วย อย่างแปรงสีฟันผู้ใหญ่จะออกแบบให้ขนาดใหญ่ และแข็งกว่าแปรงสีฟันเด็ก ของแม่พายแปรงแรงๆ แล้วเลือดออกท่วมปากเลยค่ะ เพราะเขาชาครึ่งนึงจากการเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีก แปรงเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกว่าแปรงแล้วสักที พายบอกให้เขาผ่อนแรงลง เขาก็ทำไม่ได้ ดังนั้นทางออกตรงกลางเลยเป็นเปลี่ยนอุปกรณ์ดีกว่า ใช้แปรงเด็กที่เล็กลงและนิ่มขึ้น แค่นี้ปัญหาก็หมดไปค่ะ

จริงๆ เรื่องนี้พายทำกับหลายอย่างเลย แม่พายเคยอยากตายเพราะกินข้าวแล้วคุมมุมปากไม่ได้ อาหารไหลหกเปื้อนเนื้อเปื้อนตัวด้วยค่ะ 5555 หลังจากนั้นเราเปลี่ยนช้อนกินข้าวมาเป็นช้อนขนมหวาน พอคำมันเล็กลง เขาคอนโทรลอาหารได้ ความจิตตกที่รู้สึกว่าเขาช่วยตัวเองไม่ได้แม้แต่เรื่องเล็กน้อยหรือเป็นภาระคนอื่นก็หมดไป บางทีเรื่องยากๆ ไม่ต้องแก้ท่ายากทุกเรื่องค่ะ หลายครั้งมันแก้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ แค่นี้เอง

3. เล่นเกมทายคำ

สมัยแม่พายออกจากโรงพยาบาลมาใหม่ๆ เขาไม่มีเสียงค่ะ เพราะในช่วงรักษาตัวเขาต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งมันกดทับกล่องเสียง และการจะฟื้นฟูเสียงได้คือจะต้องฝึกพูดบ่อยๆ แต่ประเด็นคือยิ่งพูดยิ่งไม่มีใครฟังรู้เรื่องค่ะ เพราะมันมีแต่ลมเวลาเปล่งคำ มันไม่มีเสียงมาด้วย ตอนแรกพายหงุดหงิดมากที่ฟังไม่ออก ถึงขั้นขอไม่ฟังเลยดีกว่า คือฟังไม่ออกก็แยกย้ายกันเถอะ กลายเป็นแม่เขาเศร้ามาก แล้วก็เริ่มไม่พูด เพราะเสียใจที่ลูกไม่อดทนพอจะฟังเขาพูดให้รู้เรื่อง

พอเป็นแบบนั้นพายเลยรู้สึกผิด เลยเปลี่ยน Mindset จากเดิมที่คิดแค่ว่า ‘อยากให้แม่พูดให้รู้เรื่องสักที’ มาเป็น ‘เรามาเล่นเกมกันดีกว่า’ หมายความว่าต่อให้พายทายไม่ถูกเลยว่าแม่พูดว่าอะไร เพราะแม่เขาพูดไม่รู้เรื่อง มันก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเขาได้พยายามพูดแล้ว และเราได้พยายามฟังแล้ว และสักวันนึงเสียงนั้นก็จะกลับมา (จากการที่เขาพยายามพูดอยู่ดี) เท่ากับว่าผลลัพธ์เราได้เท่าเดิมค่ะ แต่วิธีคิดเราเปลี่ยน และความสบายใจของสองฝั่งก็เปลี่ยน

ผลคือมันกลายเป็นอะไรที่ตลก และสนุกมากๆ กับการเดาไปเรื่อยๆ ว่าแม่พูดอะไร และแม่ก็เอนจอยมากเช่นกัน (อย่างเช่น การเดาไปเรื่อยๆ ว่าแม่พยายามพูดว่า เขาตะเกียบ > ข้าวกับตะเกียบ > แล้วสุดท้ายมารู้ว่าจริงๆ แม่พยายามพูดว่า ข้าวกระเทียม ค่ะ 5555)

สุดท้ายวันนึงเสียงแม่พายก็กลับมาจริงๆ กลับมาชนิดที่ว่าหัวเราะเสียงดังลั่นบ้านเลย ^^


ติดตามตอนอื่น ๆ ต่อได้ที่

CAREGIVER 101 Ep. 1 : ของใช้ผู้ป่วยชิ้นเล็ก
CAREGIVER 101 Ep. 2 : ของใช้ผู้ป่วยชิ้นใหญ่
CAREGIVER 101 Ep. 3 : อาวุธของผู้ดูแล
แชร์บทความนี้:

พาย ภาริอร
Guest

บรรณาธิการสาว ผู้มีประสบการณ์ดูแลคุณแม่ ซึ่งป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองแตก ตั้งแต่อายุ 16 ปี ปัจจบันคุณแม่ของพายได้จากไปแล้ว แต่พายอยากถ่ายทอดแง่คิดและความรู้เพื่อคนอื่นๆ