โรค & การดูแล
โดย นพ. อัศวิน โรจนสุมาพงศ์ และ นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ · 2022-08-05
จากการคาดการณ์ในปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียง สูงถึง 1 ล้านคน ซึ่ง “การดูแลผู้ป่วยติดเตียง” นั้นมีความละเอียดอ่อนมากกว่าผู้ป่วยทั่วๆไปเนื่องจากเป็นผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าปกติ หลายๆท่านที่เตรียมให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับมาพักฟื้นที่บ้าน อาจยังเป็นมือใหม่ในการดูแลและยังไม่เข้าใจการดูแลที่ถูกต้อง Health at Home จึงสรุป ข้อแนะนำสำคัญที่ควรรู้ในการดูแลมาฝากกันครับ
ก่อนเข้าไปสู่เทคนิคและวิธีการดูแล คุณหมออยากชวนทุกท่านเริ่มต้นที่การตั้งเป้าหมายในการดูแลก่อน เพราะหากเรามีเป้าหมายที่ถูกต้อง ระหว่างทางที่เดินเราจะไม่สับสน เพราะการดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นการดูแลระยะยาว ถ้าให้เปรียบเทียบก็อาจจะคล้ายกับการวิ่งมาราธอนกันเลยทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่ผู้ดูแลต้องทำก็คือ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนไข้จะมีโอกาสหายหรือฟื้นฟูได้มากน้อยเพียงใดตามความเป็นไปของโรค ตั้งเป้าหมายตามความเป็นจริง การดูแลรักษาอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ บางโรคที่สามารถฟื้นฟูได้ดีก็สามารถคาดหวังให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุดได้ (เช่น อุบัติเหต กระดูกหัก ซึ่งหากผู้ป่วยร่างกายแข็งแรงดีก่อนป่วย การฟื้นฟูอาจกลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้) บางโรค การตั้งเป้าหมายควรจะเข้าใจว่าผลการรักษาฟื้นฟูจะไม่ดีขึ้นเท่าเดิม หรือในบางโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรังในระยะท้ายที่รักษาไม่หาย เป้าหมายอาจจะเป็นการเน้นระคับประคองไม่ให้โรคทรุดเร็วเกินไป และให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด
โรคที่ทำให้ผู้ปวยติดเตียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดสมอง จะมีระยะฟื้นตัวที่เรียกว่า ระยะเวลาทอง หรือ Golden Period คือ ช่วงภายในระยะเวลา 3 - 6 เดือนนับตั้งแต่มีโรคหลอดเลือดสมอง จะเป็นช่วงที่ร่างกายฟื้นฟูได้ดีที่สุด โดยใน 3 เดือนแรกจะมีการฟื้นตัวสูงที่สุด ระบบประสาทจะมีการซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหาย มีการเรียนรู้จากการฝึกกระตุ้นจากภายนอกเพื่อชดเชยทักษะที่หายไปจากตัวโรค และยังคงมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองได้ดีไปจนถึงประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นความสามารถในการซ่อมแซมจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไปนานกว่า 6 เดือน ช่วงเวลา 3-6 เดือนแรกของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองจึงมีความสำคัญ เพราะหากผู้ป่วยติดเตียงได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วและเข้มข้นต่อเนื่อง ผลลัพธ์ในการฟื้นคืนสมรรถภาพก็จะดีขึ้นไปด้วย
ดังนั้นหากเราต้องทุ่มเททรัพยากร ในช่วง 3-6 เดือนแรกจึงเป็นช่วงเวลาที่เราควรจะใส่ใจและลงทุนมากที่สุด เพราะการตอบสนองของร่างกายจะสูงสุดในเวลานี้ การทำกายภาพที่ดี การเลือกผู้ดูแลที่ดีมีผลเป็นอย่างมาก
การฟื้นตัวของโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเวลาผ่านไป (Langhorne P et al, 2011)
เอกสารอ้างอิง
1. (Cramer SC. Repairing the human brain after stroke: I. Mechanisms of spontaneous recovery. Ann Neurol. 2008;63(3):272-87. Hatem SM, Saussez G, Della Faille M, Prist V, Zhang X, Dispa D, et al. Rehabilitation of Motor Function after Stroke: A Multiple Systematic Review Focused on Techniques to Stimulate Upper Extremity Recovery. Front Hum Neurosci. 2016;10:442.)
นอกจากการฟื้นฟูแล้ว การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนก็สำคัญไม่แพ้กัน หากเปรียบเป็นกีฬาการทำกายภาพบำบัด เป็นเหมือนกองหน้า บุกไปทำคะแนน แต่การป้องกันภาวะแทรกซ้อนก็เปรียบได้กับกองหลัง ไม่ให้เราเสียคะแนน
เรามารู้จักภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ดังนี้ครับ
Credit: By Jmarchn - Own work, CC BY-SA 3.0,
https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=97147251
สิ่งที่ควรรู้ : การไม่เปลี่ยนท่านานเกินกว่า 2 ชั่วโมง จะทำให้เกิดแผลกดทับ มักจะเจอในผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ไม่ค่อยพลิกตะแคงตัว ตำแหน่งของแผลกดทับมีหลายที่ที่เป็นปุ่มกระดูก เช่น กระดูกก้นกบ กระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลัง ข้อศอก และส้นเท้า
การเป็นแผลกดทับจะเริ่มจากความรุนแรงน้อยไปมากตามความผิดปกติของผิวหนัง และความลึกของแผล ยิ่งเป็นมากเท่าไร ยิ่งมีโอกาสรุนแรงและมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น คุณหมอจะแบ่งระดับแผลกดทับเป็น 1-4 ตามรูป ยิ่งปล่อยให้เป็นระดับที่มากขึ้น การรักษาก็จะยากขึ้นและใช้เวลานานขึ้นกว่าจะให้แผลกลับมาหายเหมือนเดิม
By Nanoxyde - travail personnel / own work - adaptation en SVG de l'image publiée sous licence GNU 1.2 / SVG from image released under GNU 1.2 licence : http://ja.wikipedia.org/wiki/画像:Jokuso.png, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3817141
วิธีป้องกัน : สำรวจบ่อยๆ พลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง โดยใช้ผ้ารองในการยกหรือพลิกตัว หลีกเลี่ยงการลากดึงผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้เกิดการเสียดสีได้มากขึ้น การใช้อุปกรณ์เสริม เช่น เตียงลม จะช่วยลดความร้อนได้ แต่ยังจำเป็นต้องมีการพลิกตัว แต่ อุปกรณ์ที่ห้ามใช้ ได้แก่ ห่วงยางรอง หรืออุปกรณ์อื่นที่รองแผลเช่น ถุงมือยางใส่น้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดการกดผิวหนังรอบๆ ทำให้เนื้อเยื่อตายหรือบาดเจ็บได้
วิธีรักษา: หากเป็นไม่มาก เช่น มีเพียงรอยแดงของบริเวณที่กดทับ ยังไม่มีแผล แนะนำให้ดูแลผิวหนังให้สะอาด ใช้โลชั่น หรือครีมบำรุงผิวทาเพื่อให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลปัญหาผิวหนังได้ที่นี้ครับ
ยาที่ใช้รักษาแผลกดทับ
รวม VDO สาธิตการดูแลแผลกดทับจาก Health at Home
รูปเซลกล้ามเนื้อที่มีการหดเกร็ง ไม่คลายตัวในผู้ป่วยติดเตียง
By OpenStax - https://cnx.org/contents/FPtK1zmh@8.25:fEI3C8Ot@10/Preface,
CC BY 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=30015054
สิ่งที่ควรรู้ : เมื่อไม่ได้ใช้งานไม่มีการขยับ ร่างกายจะเกร็งติด
วิธีป้องกัน : ขยับยืดเหยียดบ่อยๆ ด้วยท่ามาตรฐานทุกวัน สม่ำเสมอ
วิธีรักษา : ในการแข็งเกร็งของผู้ป่วยบางโรค มีการใช้ยาลดการเกร็งกล้ามเนื้อ
ยาที่ใช้รักษาอาการข้อยึดติด
* การใช้ยาทุกครั้งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกร
ภาพ CT-scan ปอดของผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ (สีดำคือเนื้อปอดปกติ สีขาวคือบริเวณที่มีการอักเสบ)
By James Heilman, MD - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=47744130
สิ่งที่ควรรู้ : ผู้ป่วยติดเตียงจะไม่สามารถขับเสมหะ หรือไอขับไล่สิ่งแปลกปลอมได้เหมือนคนปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวโรค หรือเกิดจากท่าทาง ทั้งขณะไอ สำลัก หรือรับประทานอาหาร ทำให้เกิดเชื้อโรคเข้าไปในปอดได้ง่าย
วิธีป้องกัน : จัดท่าการทานอาหารให้ดี ป้อนช้าๆ ค่อยๆป้อนไม่ให้สำลัก หมั่นแปรงฟันสม่ำเสมอ การแปรงฟันช่วยลดการเกิด ปอดอักเสบได้อย่างมีนัยยะสำคัญ การดูดเสมหะ ในกรณีผู้ป่วยขับเสมหะไม่ได้ (มีคลิปดูดเสมหะ)
วิธีการรักษา : ให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการที่สงสัย ได้แก่ ไข้ ไอ หอบเหนื่อย แนะนำให้แจ้งแพทย์ผู้รักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
สิ่งที่ควรรู้ : ผู้ป่วยติดเตียงมีโอกาสที่จะมีอาการท้องผูกถ่ายลำบากได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การขยับตัวน้อย ลักษณะของอาหารที่รับประทานที่มีกากใยน้อย หรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ สาเหตุจากตัวโรค หรือรวมทั้งยารักษาโรคบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูกได้
วิธีการป้องกัน : ดื่มน้ำบ่อยๆ ขยับตัวเปลี่ยนท่า สอบถามทีมผู้รักษาเกี่ยวกับยาที่ผู้ป่วยได้รับว่า ตัวใดอาจจะทำให้มีอาการท้องผูกได้ หากผู้ป่วยรับประทานอยู่ ให้สังเกตอาการและพึงระวังเสมอหากผู้ป่วยมีปัยหาการขับถ่าย ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีกากใย และน้ำเพียงพอ หากผู้ป่วยไม่ถ่ายเกินสามวันให้ใช้ยาถ่าย หรือสวนอุจจารเพื่อช่วยให้ขับถ่ายได้ชนิดของยาถ่ายที่ควรรู้
ยาที่ใช้รักษาอาการท้องผูก
สิ่งที่ควรรู้ : การใส่ผ้าอ้อม มักจะมีภาวะอับชื้น หากไม่เปลี่ยนบ่อยๆ ทำให้มีการเกิดผื่นอักเสบได้
วิธีป้องกัน : เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อผ้าอ้อมมีการเปื้อน รักษาความสะอาดของผิวหนัง
การรักษาผื่นผ้าอ้อม
สิ่งที่ควรรู้ : ผู้ป่วยหญิงจะติดเชื้อได้ง่าย เพราะใส่ผ้าอ้อมหากมีการปนเปื้อนของอุจจาระ และผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะ หรือ ปัสสาวะค้าง ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
วิธีป้องกัน : เปลี่ยนผ้าอ้อมให้บ่อย รักษาความสะอาด
วิธีรักษา : ตรวจปัสสาวะ ให้ยาฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้การเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยส่วนใหญ่จะมีดังนี้ครับ
* เราเคยเขียนถึงอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่นี่ดูเพิ่มเติมได้
EP1 CAREGIVER 101 : ของใช้ผู้ป่วยชิ้นเล็ก
EP2 CAREGIVER 101 : ของใช้ผู้ป่วยชิ้นใหญ่
EP3 CAREGIVER 101 : อาวุธของผู้ดูแล
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นการดูแลที่จำเป็นต้องเข้าใจ หลายๆองค์ประกอบเข้าด้วยกัน และการเข้าใจจะนำไปสู่การดูแลที่ดีทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดตามมาได้
คุณหมอขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกท่าน คุณหมอเข้าใจเป็นอย่างมากว่านี่เป็นช่วงเวลาท้าทายเป็นอย่างมาก นอกจากดูแลคนไข้แล้ว อยากให้ท่านผู้อ่านดูแลตัวเองด้วยนะครับ
หากท่านมีปัญหาเรื่องการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ควรขอรับคำปรึกษาที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ หรือสามารถปรึกษาการหาผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้โดยการ แอดไลน์ที่นี้ และหากต้องการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ไว้ใจได้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็ปไซต์ Health at Home Care center ครับ